ยกนิ้วให้ นศ.ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ คว้า 2 รางวัล จากแอปหางาน ผู้สูงอายุ-ผู้ต้องขัง ใช้ข้อมูลเปิดของรัฐขับเคลื่อนสังคมให้ตรงจุด ด้วยเทคโนโลยี เผย 5 อันดับสายงาน ที่ต้องการแรงงานผู้สูงอายุมากที่สุด
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA จัดโครงการประกวดนวัตกรรมข้อมูลเปิดภาครัฐ (Thailand Data Innovation Awards 2019,DIA by DGA) ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐให้เกิดนวัตกรรมทางด้านข้อมูลเปิด พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนและภาคธุรกิจในการขอรับบริการจากทางรัฐ โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี
งานนี้นักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) คว้ามาได้ 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีมJ-Elder+ ในชื่อผลงาน J-Elder+ เป็นแอปพลิเคชันที่ออกแบบให้ผู้สูงอายุหางานได้ง่ายขึ้น ส่วน ทีม Trialation ได้รางวัลชมเชย จากผลงานแอปพลิเคชัน Free man เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถว่าจ้างงานผู้ต้องขังได้
...
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้ประเทศเป็นรัฐดิจิทัล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน จึงเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลเปิดภาครัฐ ซึ่งเป็นข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อนำไปสร้างสรรค์ต่อยอดบริการระบบดิจิทัล ที่ก่อให้เกิดความสะดวกในการบริหารงานภาครัฐและการบริการสาธารณะ รวมถึงเกิดการทำงานที่เชื่อมโยง เป็นภาพลักษณ์ที่เปิดเผยและโปร่งใส
“รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมให้เกิดชุมชนผู้ใช้ข้อมูล (Data Community Engagement) ในทุกส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดบริการใหม่ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นบทบาทที่สำคัญของ DGA ได้ดำเนินการผลักดันให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาครัฐอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven) ต่อไป” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นางสาวกัลยรัตน์ พิกุลน้อย (พลอย) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มธบ. ตัวแทนทีมJ-Elder+ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ส่วนทุนที่ได้รับวางแผนเก็บสำรองไว้เพื่อพัฒนาและต่อยอดผลงาน เพื่อให้เกิดธุรกิจจริงในอนาคต โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกจะนำไปทำแชตบอต เพื่อดูฐานข้อมูลผู้ใช้งานและสอนการใช้แอปพลิเคชันให้แก่ผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 จะนำฐานข้อมูลต่างๆ มาสร้างแอปพลิเคชันให้ใช้งานได้จริง คาดว่าภายใน 5 ปี ทุกคนจะได้เห็นหน้าตาของแอปพลิเคชันดังกล่าว สำหรับแอปพลิเคชัน J-Elder+ ได้พัฒนามาจากแอปพลิเคชัน J-Elder เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้สูงอายุหางานตรงตามคุณสมบัติ โดยทางทีมงานได้เพิ่มการแก้ไขตัวอักษรที่มีขนาดเล็กให้ใหญ่ขึ้น และออกแบบหน้าจอให้ผู้ใช้งานใช้งานง่ายขึ้น นอกจากนี้ J-Elder+ ยังถูกออกแบบให้อยู่ในกลุ่มของสายงานของลูกจ้าง ซึ่งแตกต่างจาก J-Elder ที่สายงานจะอยู่ในหมวดของผู้นำหรือผู้บริหารเท่านั้น
“อยากฝากถึงน้องๆ ที่กำลังก้าวเข้าสู่ Start Up ในระหว่างเรียนทาง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีหลักสูตรให้เรียนรู้ในด้านดังกล่าว ก่อนทำธุรกิจเราต้องรู้เทรนด์หรือความชอบของตนเองก่อน เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับเทรนด์ของคนในสังคมว่าเข้ากันได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้กลัวการเริ่มต้นธุรกิจ อยากให้มองให้เป็นโอกาสมากกว่า หากน้องๆ เริ่มต้นธุรกิจในขณะที่เรียนอยู่ จะประสบความสำเร็จเร็วขึ้น แต่ถ้าช่วงแรกไม่ประสบความสำเร็จ ก็ขอให้มีความตั้งใจจริง จะสามารถผ่านอุปสรรคไปได้แน่นอน” นางสาวกัลยรัตน์ กล่าว
นายญาณกร แจ่มนิยม(เซฟ) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน(CADT) มธบ.ตัวแทนทีม J-Elder+ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ผู้สูงอายุที่ต้องการหางานทำ ทางทีมงานจึงได้นำข้อมูลตำแหน่งงานจากทางภาครัฐ มาจัดเป็น 5 อันดับสายงานที่ต้องการแรงงานผู้สูงอายุมากที่สุด ได้แก่ 1. งานด้านการผลิต 2. งานเสมียน 3. เจ้าหน้าที่สำนักงาน 4. งานด้านการประมง และ 5. พนักงงานขาย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผู้ประกอบการต้องการแรงงานในกลุ่มดังกล่าวจำนวนมาก นอกจากนี้สถานประกอบการที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุเข้าร่วมงาน จะได้ Corporate Social Responsibility (CSR) หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร ที่ดำเนินกิจการภายใต้หลักจริยธรรมและการจัดการที่ดี นอกจากนี้ สามารถนำค่าจ้างจากผู้สูงอายุไปหักภาษีได้ถึง 2 เท่า ในส่วนของผู้สูงอายุจะได้คุณสมบัติพิเศษในด้านประสบการณ์การทำงาน
...
“โครงการฯนี้ ทำให้เราได้เปิดประสบการณ์นอกรั้วมหาวิทยาลัยมากขึ้น ได้ก้าวสู่เวทีที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งทางทีมงานต้องขอบคุณผู้สนับสนุนโครงการฯ และคณะอาจารย์จาก มธบ.ที่คอยให้คำปรึกษาทำให้ทีมของเราได้มีโอกาสมายืนอยู่จุดนี้” นายญาณกร กล่าว
นางสาวสใบทิพย์ เทพเดช นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัย CIBA มธบ.ตัวแทนทีม Trialation กล่าวว่า แนวคิดในการสร้างแอปพลิเคชันเว็บไซด์ FREE MANN หรือแอปพลิเคชันจัดหางานให้กับผู้ต้องขัง ได้แนวคิดมาจากโครงการที่รัฐบาลและกรมราชทัณฑ์จัดตั้งขึ้น คือ “โครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขัง” เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีและใกล้พ้นโทษ สามารถออกไปทำงานในสถานประกอบการนอกเรือนจำได้ สำหรับจุดเด่นของแอปพลิเคชันนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการกำหนดคุณสมบัติและจำนวนผู้ต้องขังที่ต้องการจะว่าจ้างได้ โดยยื่นความจำนงผ่านแอปพลิเคชัน ระบบจะแสดงรหัสของผู้ต้องขังที่ตรงตามคุณสมบัติหรือใกล้เคียงมากที่สุด เมื่อกดเลือกรหัสของผู้ต้องขังแล้วต้องรอการอนุมัติจากกรมราชทัณฑ์ ส่วนข้อดีของการใช้แอปพลิเคชันดังกล่าว ช่วยลดความซ้ำซ้อนของเอกสารและประหยัดเวลาในการยื่นเอกสาร เพราะสามารถยื่นเอกสารผ่านแอปพลิเคชันได้ นอกจากนี้แอปพลิเคชัน ยังมีจุดเด่นด้านความน่าเชื่อถือเพราะเราทำงานร่วมกับกรมราชทัณฑ์
...
“ปัจจุบันไทยมีผู้ต้องขังชั้นกลางและชั้นเยี่ยมประมาณ 200,000 คน ที่ได้รับการฝึกทักษะทางด้านอาชีพจากกรมแรงงาน หากกลุ่มผู้ต้องขังเหล่านี้ ได้รับโอกาสในการทำงาน เชื่อว่าจะไม่กลับไปทำผิดซ้ำ เพราะมีอาชีพรองรับที่สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ซึ่งสอดคล้องกับโครงการคืน “คนดีสู่สังคม” ของกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม(ยธ.)” นางสาวสใบทิพย์ กล่าว
ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า นับเป็นความภูมิใจของมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาของเราสามารถคว้ามาได้ถึง 2 รางวัล และเป็นสิ่งที่ตอกย้ำความเป็น StartUp University ซึ่งเราเน้นสร้างทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษา ภายใต้โครงการ Capstone Project ซึ่งเน้นให้นักศึกษาได้ฝึกแก้ไขโจทย์จริงจากความต้องการของภาคธุรกิจ กระตุ้นให้พัฒนาทักษะด้านการเรียนรู้ ทั้งยังฝึกการทำงานร่วมกันเป็นทีมกับสมาชิกที่มีพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาก่อนออกสู่ตลาดแรงงาน โดยที่ธุรกิจบัณฑิตย์เน้นการจัดกระบวนเรียนรู้ที่เน้นการผลิตบัณฑิตให้ คิดเป็น ทำเป็นและสร้างผลงานที่ดีได้ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในโลกแห่งการทำงานจริง
...