ในยุคดิจิทัลที่สถาบันการศึกษาในหลายๆประเทศต่างทยอยปิดตัวลง เพราะผู้เรียนมีทางเลือกทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น

แต่สำหรับรัฐฉาน ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ชาวไทใหญ่ (ชาวไต) ที่นั่น กำลังตื่นเต้นกับการเกิดขึ้นของสถาบันอุดมศึกษาครั้งแรกนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

คณะพระเถรานุเถระ จากไทยจำนวน 27 รูป ไปร่วมประชุมเสวนาวิชาการ ที่มหาวิทยาลัยพุทธศาสนารัฐฉาน เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก.
คณะพระเถรานุเถระ จากไทยจำนวน 27 รูป ไปร่วมประชุมเสวนาวิชาการ ที่มหาวิทยาลัยพุทธศาสนารัฐฉาน เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก.

...

ชื่อ “มหาวิทยาลัยพุทธศาสนารัฐฉาน” (Shan State Buddhist University) ภายใต้การนำของอธิการบดี ศ.ดร.พระคำหมาย ธัมมสามิ พระสงฆ์ชาวไทใหญ่ เจ้าอาวาสวัดพุทธวิหารออกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร โดยท่านใช้เวลาเกือบ 25 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านบุคลากรทางการศึกษา

ถึงขนาดส่งลูกศิษย์ไปศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ และกลับมาร่วมกันก่อตั้งมหาวิทยาลัยพุทธศาสนารัฐฉาน ที่เมืองตองจี เมืองหลวงแห่งรัฐฉานจนสำเร็จได้ในปัจจุบัน

ลิน ฮตุต มุขมนตรีแห่งรัฐฉาน เป็นประธานเปิดสัมมนาวิชาการ.
ลิน ฮตุต มุขมนตรีแห่งรัฐฉาน เป็นประธานเปิดสัมมนาวิชาการ.

ศ.ดร.พระคำหมาย เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยกันดีกับคณะสงฆ์ไทย และพุทธศาสนิกชนชาวไทย ท่านปฏิบัติศาสนกิจในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 15 ปี ในการช่วยเหลืองานทั้งฝ่ายธรรมยุตนิกาย และมหานิกาย

นอกจากนั้นยังได้จัดอบรมวิปัสสนากรรมฐานที่ยุวพุทธิกสมาคม เป็นพระอาจารย์ผู้บรรยายถวายความรู้แก่พระสงฆ์ที่เข้าอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ

อีกทั้งยังเป็นผู้ประสานงานกิจกรรมสำคัญทางพุทธศาสนาต่างๆ โดยเฉพาะโครงการกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติ รวมทั้งร่วมผลักดันให้เกิดสมาคมนานาชาติของมหาวิทยาลัยชาวพุทธทั่วโลก

ศ.ดร.พระคำหมาย ธัมมสามิ รับปัจจัยกฐินสามัคคี 2 แผ่นดิน จากคณะเจ้าภาพกฐินและสาธุชนที่ร่วมสร้างบุญใหญ่ครั้งนี้.
ศ.ดร.พระคำหมาย ธัมมสามิ รับปัจจัยกฐินสามัคคี 2 แผ่นดิน จากคณะเจ้าภาพกฐินและสาธุชนที่ร่วมสร้างบุญใหญ่ครั้งนี้.

ดังนั้น เมื่อศิษยานุศิษย์ทราบถึงความตั้งใจของ พระอาจารย์คำหมาย ในการทุ่มเทแรงกำลังเพื่อสร้างมหาวิทยาลัยพุทธศาสนารัฐฉาน จึงปวารณาขอเป็นเจ้าภาพนำกฐินจากประเทศไทยมารวมกับกฐินที่รัฐฉาน กลายเป็นกฐินสามัคคี 2 แผ่นดิน

...

นำโดย นายวิเชียร แซ่ฉั่ว และ นางพัชธร กิตินุกูลศิลป์ นายธงชัย-นางพิชาวดี เจริญวาสนาดำรง พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนชาวไทยเกือบ 80 คน นำปัจจัยมาถวายเป็นยอดกฐินรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 5 ล้านบาท พร้อมทั้งบริวารกฐินอีก 99 ชุดเพื่อถวายแด่พระสงฆ์จากเมืองตองจี

หลวงพ่อธัมมสติ จากหมู่บ้านพลัม แสดงธรรมเทศนา เรื่อง “สันติในเรา สันติในโลก” โดยมีผู้ร่วมคณะกฐิน 2 แผ่นดิน เข้าฟังกันอย่างคับคั่ง.
หลวงพ่อธัมมสติ จากหมู่บ้านพลัม แสดงธรรมเทศนา เรื่อง “สันติในเรา สันติในโลก” โดยมีผู้ร่วมคณะกฐิน 2 แผ่นดิน เข้าฟังกันอย่างคับคั่ง.

ศ.ดร.พระคำหมาย ได้อธิบายถึงความสำคัญของงานกฐินไว้ได้น่าสนใจว่า “กฐิน” เป็นการดึงคนแต่ละแห่งมาร่วมกัน พระสงฆ์กับฆราวาส เวลาเจ้าภาพมาก็จะนำเครือข่ายญาติธรรมเข้ามาร่วม

...

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า พระสงฆ์รูปเดียวไม่สามารถรับกฐินได้ ต้องมีอย่างน้อย 5 รูป เป็นตัวแทนสงฆ์ ในสมัยพุทธกาล จีวรกฐินมีเพียงชุดเดียว ไม่มีเครื่องจักร ถ้าขาดจีวร ให้ใช้เวลาทำภายใน 1 เดือน และเย็บผ้า ย้อมสี ภายใน 24 ชั่วโมง ไม่อย่างนั้นเป็นอาบัติ

ที่สำคัญต้องรู้จักการอนุโมทนา คือ การพัฒนาจิต ต้องฝึกให้เกิดปีติได้ คือให้คนที่ขาดแคลนจีวรมากที่สุดเป็นคนได้รับ และต้องมี มุทิตา และกรุณา เป็นคำสอนจากกฐิน ไม่เช่นนั้นสังคมจะอยู่ร่วมกันไม่ได้

นางฐิติวรรณ ไสวแสนยากร บก.ข่าวการศึกษา นสพ.ไทยรัฐ และครอบครัว ร่วมเป็นเจ้าภาพกฐิน.
นางฐิติวรรณ ไสวแสนยากร บก.ข่าวการศึกษา นสพ.ไทยรัฐ และครอบครัว ร่วมเป็นเจ้าภาพกฐิน.

นอกจากจะได้นำกฐินมาถวายแล้ว คณะเจ้าภาพยังได้กราบอาราธนานิมนต์ พระเถรานุเถระจำนวน 27 รูปจากประเทศไทย อาทิ พระสิงห์ทอง เขมิโย วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี พระมงคลธีรคุณ (อินศร จินฺตาปญฺโญ) รองเจ้าอาวาส วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม เข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ

...

ในหัวข้อ “ถอดรหัสมาติกา : ปัฏฐาน ภวังค์” และ “วิปัสสนาในคัมภีร์อภิธรรม” ซึ่งจัดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยพุทธศาสนารัฐฉาน ระหว่างวันที่ 9-10 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมทั้งพระสงฆ์และฆราวาสจากทั่วโลก โดยได้รับเกียรติจาก นายลิน ฮตุต มุขมนตรีแห่งรัฐฉาน เป็นประธานเปิด

พ.ต.หญิง ดร.สิริลักษณา กุญชร ณ อยุธยา นำปัจจัยจากลูกศิษย์วัดพุทธวิหารออกซ์ฟอร์ด มาถวาย.
พ.ต.หญิง ดร.สิริลักษณา กุญชร ณ อยุธยา นำปัจจัยจากลูกศิษย์วัดพุทธวิหารออกซ์ฟอร์ด มาถวาย.


วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการแสวงหาความรู้ให้ลึกซึ้ง และสามารถต่อยอดเป็นงานวิจัย เพราะถ้าไม่มีงานวิจัย มหาวิทยาลัยก็เป็นแค่สถาบันที่ผลิตปริญญา แต่ไม่มีวิชาการเป็นหลัก

สำหรับ มหาวิทยาลัยพุทธศาสนารัฐฉาน นั้น ได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2558 ซึ่งตรงกับวันชาติของรัฐฉาน ปัจจุบันมีนักศึกษาทั้งที่เป็นพระสงฆ์ และฆราวาส จาก 7 ประเทศ ประกอบไปด้วย จีน อินเดีย เวียดนาม ลิทัวเนีย มาเลเซีย อังกฤษ และเมียนมา

เป็นการศึกษาในระดับปริญญาโท 29 คน และระดับปริญญาเอก 8 คน ผู้เรียนทุกคนจะได้รับการสนับสนุนด้านทุนการศึกษา มีภาควิชาต่างๆ ได้แก่ ภาควิชาบาลีและภาษา ภาควิชาพระไตรปิฎกศึกษา ภาควิชาปรัชญา พุทธจริยศาสตร์และสังคมวิทยา

ภาควิชาวิปัสสนาและจิตวิทยาเชิงพุทธ และภาควิชาประวัติศาสตร์พุทธศาสนา มานุษยวิทยา ศิลปะและโบราณคดี ทุกหลักสูตรจะจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ

ขบวนแห่กฐินในเมืองตองจี ที่คนทั้งเมืองออกมาร่วมงาน เพื่อนำไปมอบให้วัดกว่า 300 แห่ง ถือเป็นงานใหญ่ประจำปี.
ขบวนแห่กฐินในเมืองตองจี ที่คนทั้งเมืองออกมาร่วมงาน เพื่อนำไปมอบให้วัดกว่า 300 แห่ง ถือเป็นงานใหญ่ประจำปี.

“พระอาจารย์ไม่ได้ให้อะไร วิชาความรู้จะได้มากน้อยขึ้นอยู่กับตัวนักศึกษา แต่อยากให้ลูกศิษย์ทุกคนมีความเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะจบไปเป็นนักคิด นักปราชญ์ นักเขียน นักสันติภาพ” ศ.ดร.พระคำหมาย กล่าว

ศ.ดร.พระคำหมาย กล่าวอีกว่า ตั้งแต่มหาวิทยาลัยเปิดมา 4 ปี มีหนังสือในห้องสมุดกว่า 20,000 เล่ม มีพระไตรปิฎก 11 ภาษา ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ต้องมีหนังสือเพิ่มเป็น 40,000 เล่ม และสร้างให้ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเป็นห้องสมุดทางพุทธศาสตร์อันดับที่ 1 ในเอเชีย

มหาวิทยาลัยแห่งนี้มุ่งที่จะสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพิ่มขึ้นทั้งในทวีปยุโรป และในประเทศไทย.

สุภวัส วรมาลี