การเลี้ยงโคนม...มักประสบปัญหา แม่โคป่วย แม่โคเป็นสัด เกษตรกรไม่รู้ ทำให้โคไม่ได้รับ การผสมพันธุ์ จะต้องรอไปอีก 21 วันเป็นอย่างน้อยถึงจะเป็นสัดอีกครั้ง รวมทั้งในปีนั้นเกษตรกรจะไม่ได้ลูก อีกทั้งผลผลิตน้ำนมดิบจะไม่ได้คุณภาพที่ดี ทำให้ผู้เลี้ยงโคนมขาดโอกาสและขาดรายได้
น.สพ.ดร.ศุภชาติ ปานเนียม ดร.พิเชษฐ์ สืบสายพรหม พร้อมทีมงานวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตร คณะสัตวแพทยศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโรงพยาบาลสัตว์หนองโพ ร่วมทำ “โครงการสร้างอุปกรณ์ IoT สำหรับตรวจวัดพฤติกรรมโคนม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการระบบสืบพันธุ์ในฟาร์มโคนม และการแจ้งเตือนโรคเบื้องต้น”
“อุปกรณ์ตัวนี้จะคล้ายกับกำไล EM ที่ใช้ติดตามตัวผู้ต้องขังระหว่างรอการพิจารณา แต่มีประสิทธิภาพเหนือกว่า เพราะสามารถบอกได้ตั้งแต่ตำแหน่งที่อยู่ การยืน เดิน และนอน รวมทั้งอุณหภูมิของร่างกายโคได้ตลอด 24 ชม. พร้อมกับตรวจวัดและบันทึกพฤติกรรมในแต่ละวัน และส่งข้อมูลไปจัดเก็บในคลาวด์เซิร์ฟเวอร์ ประมวลผล และวิเคราะห์พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม”
...
ดร.พิเชษฐ์ บอกว่า สิ่งที่ได้จากการติดตั้งอุปกรณ์ตัวนี้ ทำให้รู้ได้ทันที โคนมสาวเป็นสัดในช่วงเวลาไหน เพราะเครื่องจะบอกได้จากอาการขาสั่นเร็วและแรงผิดไปจากปกติ พร้อมกับส่งข้อมูลแจ้งเตือนผ่านทางแอปพลิเคชันในคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์สมาร์ทโฟนมือถือไปยังเจ้าของโค
ทำให้สามารถกำหนดวันเวลาผสมพันธุ์ได้แม่นยำ...การผสมพันธุ์จะติดลูกง่าย ส่งผลให้แม่โคให้น้ำนมดิบที่มีคุณภาพ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เต็มที่ ไม่ต้องจ่ายเงินสูญเปล่าในการผสมพันธุ์
นอกจากอุปกรณ์ตัวนี้ ยังสามารถวัดอุณหภูมิ การเคลื่อนไหว การล้มนอน ที่สามารถแจ้งให้รู้ได้ทันทีถึงอาการเจ็บป่วย ทำให้การรักษาได้ทันท่วงที...ช่วยหยุดการแพร่ระบาดของโรคได้รวดเร็ว ดีกว่ามารู้ทีหลังเมื่อโคป่วยยกฟาร์ม ทำให้การรักษายากขึ้น และค่าใช้จ่ายสูง
“จากการทดลองใช้มา 1 ปีกว่าในแม่โคนม 4 ตัว พบปัญหาระบบแบตเตอรี่ใช้งานได้นานแค่ 2 สัปดาห์ แต่ได้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนมาใช้แบตเตอรี่รุ่นใหม่สามารถใช้ได้นานขึ้นมากกว่า 6 เดือนและจากการทดลองติดตั้งในตำแหน่งทั้ง 4 ขา ปรากฏว่าตำแหน่งที่เหมาะสมในการติดตั้งกำไล EM มากที่สุดเป็นขาหน้าด้านซ้าย เพราะเป็นขาที่มีการใช้งานน้อยที่สุด เลยทำให้อุปกรณ์ไม่ค่อยได้รับความเสียหายจากการนอนกดทับหรือเบียดกับเสาโรงเรือน”
ข้อดีของเครื่องนี้ราคาแค่ 1,500 บาท...ในขณะที่ผลิตจากอิสราเอลราคาสูงถึง 3,000 บาท
สนใจชมอุปกรณ์นี้ได้ในงานเกษตรกำแพงแสน 1-10 ธันวาคม 62 บริเวณสระพระพิรุณ ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จ.นครปฐม.
ไชยรัตน์ ส้มฉุน