“ไบโอไทย” ลั่น หากมีการทบทวนมติ แบน 3 สารเคมีอันตราย เครือข่ายจะรวมตัวคัดค้านแน่นอน ซัดไม่ใช่หน้าที่ของ รมว.อุตสาหกรรม ด้าน “สุริยะ” ต้องออกมาย้ำ ยืนยันมติการแบน 3 สารเคมี ไม่มีการทบทวนใหม่ วอนหยุดบิดเบือนข้อมูลที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ส่วน “เฉลิมชัย” สั่งปลัดกระทรวงเกษตรฯ เรียกผู้เกี่ยวข้อง 3 สาร หารือวันที่ 6 พ.ย.นี้ เพื่อรับมือผลกระทบการแบน 3 สาร ด้านสมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมคนไทย ธุรกิจเกษตร และสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ทำหนังสือถึงนายกฯปลดล็อกการระงับการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย สารเคมี ยาฆ่าแมลงอื่น หลังกรมวิชาการเกษตรสั่งระงับจนส่งผลกระทบสารเคมีอื่นไปด้วย

หลังจากเครือข่ายเกษตรกรผู้คัดค้านการห้ามใช้ 3 สารเคมีทางเกษตร “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส “มีความพยายามเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน ทบทวนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ชุดเดิม เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ให้แบน 3 สารเคมีดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบน “ไกลโฟเซต” นั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พ.ย.นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวถึงกรณีมีความกังวลว่าจะมีการทบทวนการแบนสารเคมีอันตราย ว่าทางไบโอไทย และเครือข่ายนักวิชาการต่างๆ รวมทั้งภาคประชาสังคม มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และหากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีการประชุมและพิจารณายอมกลับมติก็เท่ากับว่า รมว.อุตสาหกรรม รับลูกของฝ่ายสหรัฐฯ และหากทำเช่นนั้นจริงๆ เท่ากับเป็นการเคลื่อนไหวที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทที่นำเข้าและจำหน่าย ไกลโฟเซตในประเทศไปพร้อมๆ กันด้วย อย่างไรก็ตามสาระสำคัญของจดหมายจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คือการปกป้องผลประโยชน์ในการส่งออกถั่วเหลือง และข้าวสาลี มายังประเทศไทยโดยประโยคสำคัญในจดหมายของแมคคินนีย์คือการเรียกร้องให้ประเทศไทยคงระดับค่าการตกค้าง (MRL หรือ Tolerance) ของไกลโฟเซตในระดับที่กำหนดอยู่ในปัจจุบันเพื่อไม่ให้กระทบการส่งออกของสหรัฐฯ

...

นายวิฑูรย์กล่าวอีกว่า ในกรณีสหรัฐฯเมื่อแบน สารพิษชนิดใด จะยกเลิกค่าการตกค้าง (Tolerance) ทำให้ไม่สามารถใช้สารพิษชนิดนั้นในการปลูกพืชในประเทศได้ แต่สหรัฐฯจะกำหนดค่า Import Tolerance สำหรับสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อประโยชน์ของสหรัฐฯเอง เช่น เมื่อสหรัฐฯแบนคาร์โบฟูราน ในปี 2009 ได้ยกเว้นให้สำหรับสินค้านำเข้า 4 ประเภทได้แก่ ข้าว กล้วย กาแฟ และน้ำตาล แต่การตกค้างต้องไม่เกินค่า MRL ที่สหรัฐฯกำหนด ในแง่นี้การอ้างเหตุผลเรื่องผลกระทบต่อการส่งออก เพื่อเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการแบนไกลโฟเซตจึงขัดแย้งกับแนวปฏิบัติของสหรัฐฯเอง สำหรับบทบาทในการกำหนดค่า MRL ของสินค้า เกษตรในประเทศไทย เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยา ซึ่งกำกับดูแล พ.ร.บ.อาหาร การดำเนินการ เกี่ยวกับเรื่องนี้จึงเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข และอาจรวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการค้า ซึ่งไม่ใช่บทบาทและความรับผิดชอบของนายสุริยะแต่อย่างใด

“ดังนั้นเรื่องนี้ หากใครจะเสนอให้ทบทวนก็ควรเป็นกระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากโดยหลักสินค้าใดที่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯ สามารถกำหนดค่า Import MRL โดยกำหนดการตกค้างในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายใต้พื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และหลักการป้องกันเอาไว้ก่อน เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ หากมีอะไรเปลี่ยนแปลงก็ต้องเป็น กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯเสนอ ไม่ใช่นายสุริยะออกมาเช่นนี้” นายวิฑูรย์กล่าว และย้ำว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงมติใดๆ ตน เครือข่ายจะออกมาคัดค้านอย่างแน่นอน

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงข่าวการทบทวนการแบน 3 สารเคมีอันตรายว่า ขอย้ำอีกครั้งว่ายืนยันมติการแบน 3 สารเคมีอย่างแน่นอน ไม่มีการทบทวนใหม่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อยากให้ทุกฝ่ายพร้อมใจเดินหน้าทำเพื่อประเทศ หยุดบิดเบือนข้อมูลที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และอยากให้หน่วยงานที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้อย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าไปดูแล ทั้งนี้ ตนได้ให้นโยบายชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่า ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทั้ง 3 คน จากกระทรวงอุตสาหกรรม ในการประชุมเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ลงมติฯ ห้ามไม่ให้มีการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดในภาคเกษตร-กรรม ดังนั้น จุดยืนของตนไม่มีการเปลี่ยนแปลง และไม่เคยพูดเลยว่าจะไม่แบน เพียงแต่ห่วงใยประชาชนทุกฝ่าย

ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบจากการที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติให้แบน 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก ห้ามจำหน่ายและห้ามครอบครอง โดยให้มีผลวันที่ 1 ธ.ค.2562 โดยให้นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน พิจารณาว่าหากต้องแบน 3 สาร ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด และในวันที่ 6 พ.ย.นี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแบนสารเคมี อาทิ เกษตรกร ผู้ประกอบการเอกชนที่นำเข้าผลผลิตด้านการเกษตร ผู้ผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น จะเข้าหารือถึงมาตรการรับมือ

“ผมไม่เคยดำเนินการในเรื่องใดๆโดยใช้อารมณ์ ต้องพิจารณาด้วยหลักการ ผลกระทบว่า หากไม่มีสารเคมีที่เป็นสารทดแทน และใช้ได้ผลในการจำกัดวัชพืช เมื่อมีการแบน เกษตรกรจะทำอย่างไร ส่วนตัวได้สอบถามไปทุกสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการแบนสารไปบ้างแล้ว แต่ต้องให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบ หารือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบและประเมินสถานการณ์ แล้วนำรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อไป” รมว.เกษตรฯกล่าว

...

ด้านความเคลื่อนไหวของ 3 สมาคมเกี่ยวกับการทำเกษตร ได้แก่สมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร และสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้ง 3 สมาคมได้หารือเพื่อร่วมกันทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 6 พ.ย.นี้ เพื่อขอให้พิจารณาปลดล็อกการระงับการขึ้นทะเบียน วัตถุอันตราย สารเคมี ยาฆ่าแมลง หลังกรมวิชาการเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตรไม่อนุญาตให้มีการส่งออก หรือนำเข้าสารเคมี ซึ่งทางกรมวิชาการเกษตร อ้างว่า น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ สั่งให้ระงับไว้ ทั้งนี้ การระงับการขึ้นทะเบียน ไม่ใช่เพียง 3 สารเคมีเกษตรที่เดือดร้อน แต่สารเคมีอื่นๆก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ ซึ่ง 3 สมาคมได้ทำหนังสือถึง รมว.เกษตรฯไปแล้ว แต่ทาง รมว.เกษตรฯระบุไม่เคยเห็นคำสั่งนี้ ไม่ได้เป็นผู้สั่งให้ระงับ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดมาตรา 157 ในเรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งเรื่องนี้ 3 สมาคมคงต้องยื่นฟ้องกรมวิชาการเกษตร ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้เอกชนเสียหาย

ขณะเดียวกัน ทั้ง 3 สมาคมยังมองเรื่องของ การแบน 3 สารเคมี เป็นที่น่าสังเกตว่า ดำเนินการด้วยความรีบเร่ง แถมการทำลายสารเคมียังให้เป็นหน้าที่ของเอกชน เป็นผู้ทำลาย โดยค่าทำลายกำหนดไว้ประมาณ 100 บาท/กิโลกรัม ถือว่าสูงมาก และ บริษัทที่ทำลายสารเคมีที่ได้รับอนุญาต มีเพียงบริษัทเดียวในประเทศไทย คือ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งต้องไปสืบว่า บริษัทนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับใคร หากต้องทำลายสารเคมีใครจะได้ประโยชน์ ซึ่งการสั่งแบน 3 สารพร้อมกับการระงับ ทะเบียนสารเคมี ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งออกสารเคมี ไม่สามารถระบายสต๊อกไปยังประเทศต้นทาง และประเทศผู้ผลิตสารเคมีได้

...

เย็นวันเดียวกัน นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า สมาคมฯกังวลว่าปี 2563 อุตสาหกรรมอ้อยจะสูญเม็ดเงินมากกว่า 300,000 ล้านบาท จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากเหตุแบนสารเคมีเกษตร กำลังการผลิตลด โดยสมาคมฯวิเคราะห์ตัวเลขความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นหากยกเลิกพาราควอต ซึ่งเป็นสารเคมี ที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิตอ้อย และยังไม่สามารถหาสารทดแทนได้ ดังนั้น การที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบนพาราควอต จึงส่งผลโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในพื้นที่กว่า 10 ล้านไร่ และคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย รวมทั้งห่วงโซ่ อุตสาหกรรมอ้อย อาจสูงถึง 500,000 ล้านบาท และยังต้องเสียศักยภาพความเป็นผู้นำในการส่งออกน้ำตาล สมาคมฯจึงขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายก รัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อปกป้องสินค้าเกษตรและเกษตรกรไทยด้วย