Credit : S. Lindström, GEUS

ยุคไทรแอสสิก (Triassic) เป็นช่วงเวลาทางธรณีวิทยาหนึ่งในประวัติศาสตร์ของโลก เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 250 ล้านปีที่แล้ว และสิ้นสุดลงราวๆ 50 ล้านปีต่อมา สิ่งที่น่าทึ่งก็คือยุคดังกล่าวเริ่มต้นและสิ้นสุดลงด้วยการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (mass extinctions) ซึ่งการวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่าการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่ทำให้สิ้นสุดยุคไทรแอสสิกนั้นเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบต่างๆที่ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตเกิดความลำเค็ญ

การเกิดภูเขาไฟปะทุขึ้น เกิดภาวะโลกร้อนเพราะจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนเกินในชั้นบรรยากาศและทำให้เกิดกรดในมหาสมุทร ล่าสุด นักวิจัยจากสำนักสำรวจธรณีวิทยาแห่งราชอาณาจักรเดนมาร์กและกรีนแลนด์ (Geological Survey of Denmark and Greenland-GEUS) เผยว่ายังมีอีกปัจจัยที่มีส่วนในเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของยุคไทรแอสสิก สิ่งนั้นคือสารปรอทที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อภูเขาไฟปะทุและระเบิดสสารขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ หลังจากผ่านไประยะหนึ่งปรอทก็จะตกกลับสู่พื้นผิวโลกจนก่อหายนะตามมา

ทีมวิจัยได้พบหลักฐานของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 200 ล้านปีก่อน ทีมสงสัยว่าสารปรอทอาจเป็นปัจจัยร่วมในการมรณะครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตบนบกและในทะเล จากการศึกษาซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของพืชในเวลานั้น เช่น สปอร์ของเฟิร์นที่มีความปกติ กับที่กลายพันธุ์จากเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ยุคไทรแอสสิก ซึ่งสารปรอทไม่เพียงแต่ฆ่าพืชเท่านั้น ทว่ายังนำไปสู่การกลายพันธุ์อีกด้วย หลักฐานนี้ชี้ให้เห็นว่าสารปรอทมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทสำคัญในการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ซึ่งได้สิ้นสุดยุคไทรแอสสิก โดยสัตว์จะเสียชีวิตโดยตรงจากพิษของสารปรอท หรือทางอ้อมคือการขาดอาหารหากพืชตายไป.

...