ผ่านมาปีกว่าแล้ว นับแต่ประเทศไทยได้ตั้งป้อมรับมือโรค ASF ไม่ให้เข้ามาทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูบ้านเรา หลังจากพบการระบาดในมณฑลเหลียวหนิง ประเทศจีน เมื่อ 3 ส.ค.ปีที่แล้ว
มาถึงวันนี้ แม้โรคที่ระบาดเฉพาะในสุกร ไม่ติดต่อสู่คน ได้รุกประชิดประเทศรอบด้าน จนทุกจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ถูกประกาศเป็นเขตควบคุมโรคไปครบถ้วน
พื้นที่ไหนพบหมูป่วยตายผิดปกติ สุกรที่เลี้ยงภายในรัศมี 1 กม.จะถูกทำลาย เพราะโรคนี้ยังไม่มียารักษา หมูเป็นโรคนี้แล้วเรื่องแค่หมูป่วยตายนั้นไม่ร้ายแรงเท่า เชื้อไวรัสที่ก่อโรคจะแพร่ระบาดได้รวดเร็วยิ่ง
หนทางเดียวที่จะควบคุมโรคนี้ไม่ให้ทำลายอุตสาหกรรมหมูมูลค่านับแสนล้านของบ้านเรา ต้องหยุดโรคให้ไวที่สุดเท่าที่จะทำได้
ที่ผ่านมาต้องยอมรับบ้านเรายังไม่เจอโรค ASF นั่นเพราะทุกภาคส่วน ทั้งกรมปศุสัตว์ ภาคเอกชนผู้เลี้ยงรายใหญ่ รายกลาง รายย่อย ได้ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเต็มกำลัง นอกจากลงขันสร้างด่าน...ยังลงเงินเข้ากองทุนหลายสิบล้านเพื่อเป็นทุนเยียวยาให้เกษตรกรที่สูญเสียรายได้จากการนำสุกรต้องสงสัยว่าเป็นโรคไปทำลาย
เพราะเยียวยาได้รวดเร็วทันใจกว่าใช้ระบบราชการ...ขืนรอให้ทำเรื่องเบิกงบประมาณ รู้ๆกันอยู่ ผลเป็นยังไง ยิ่งจะสร้างปัญหาให้กับการควบคุมโรคไม่ได้ผล
ได้เงินช้าหรืออาจไม่ได้เลย จะผลักให้เกษตรกรแอบลักลอบนำสุกรป่วยเป็นโรคไปจำหน่าย ยิ่งทำให้เชื้อโรคแพร่ระบาดกระจายไปได้ทั่วประเทศ
วันนี้มีการเข้าไปเยียวยากันมาแล้วหลายพื้นที่ เงินกองทุนชักร่อยหรอ...จนคนที่ทำงานเรื่องนี้ รู้สึกเหมือนถูกปล่อยเกาะ
ทั้งที่ได้ประกาศให้ปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ เม.ย.ที่ผ่านมา มีการอนุมัติวงเงินสำหรับทำลายและจ่ายเป็นค่าชดเชยในการทำลายสุกรและซากสุกร 1,674 ล้านบาท และมีการแต่งตั้ง คณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ ไปเมื่อ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา...แต่กลับไม่มีผลงานอะไรคืบหน้า
...
ไม่ต่างอะไรกับประกาศตั้งคณะกรรมการทอดกฐินสามัคคี.
สะ-เล-เต