สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับการค้ำประกัน กรณีที่สามีไปทำสัญญาค้ำประกัน โดยที่ภรรยาได้ลงลายมือชื่อในหนังสือให้ความยินยอมทั่วไป ไม่ได้ระบุข้อความจำเพาะเจาะจง ต่อมาลูกหนี้ชั้นต้นไม่ปฏิบัติตามสัญญากู้ยืมเงิน เป็นผลให้เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องภรรยาในฐานะคู่สมรส โดยอ้างว่า การลงลายมือชื่อในหนังสือยินยอมทั่วไปดังกล่าวนั้น ถือเป็นการให้สัตยาบัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490 (4) ภรรยาจึงเป็นลูกหนี้ร่วมต้องรับผิดชอบชดใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาค้ำประกันด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การลงลายมือชื่อในหนังสือยินยอมทั่วไปดังกล่าวนั้น ถือเป็นการให้สัตยาบันตามกฎหมายหรือไม่ และภรรยาต้องรับผิดชอบชดใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาค้ำประกันในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมหรือไม่

เดิมเคยมีคำพิพากษาฎีกาหลายฉบับวินิจฉัยว่า การที่สามีหรือภรรยาลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินในฐานะพยาน หรือลงลายมือชื่อในหนังสือให้ความยินยอมทั่วไป เพื่อให้คู่สมรสไปกู้ยืมเงินหรือนำทรัพย์สินไปจำนอง ก็ถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490 (4) แล้ว สามีหรือภรรยาจึงต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ในฐานะลูกหนี้ร่วม

แต่ต่อมามีคำพิพากษาฎีกาฉบับที่ 8820 / 2561 (ประชุมใหญ่) วินิจฉัยว่า

“ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ในส่วนที่ ส. ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส เมื่อจำเลยที่ 2 ให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป จึงเป็นการแสดงเจตนารับรู้และไม่คัดค้านที่ ส. สามีไปทำนิติกรรม หาใช่เป็นการให้สัตยาบันตามนัยของบทบัญญัติ มาตรา 1490(4) ไม่ เนื่องจากไม่มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แต่อย่างใดว่าจำเลยที่ 2 รับรองการที่ ส. ก่อหนี้ขึ้นแล้วตามมูลหนี้ที่มีการทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 คงปรากฏเฉพาะการที่จำเลยที่ 2 รับรู้ถึงการเข้าทำสัญญาค้ำประกันของ ส. เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้สัตยาบันการก่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่คู่สมรสได้กระทำไป จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม”

...

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1490 หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามี หรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้

(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือน และจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ

(2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส

(3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน

(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้น เพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่ง ได้ให้สัตยาบัน

จากคำพิพากษาฎีกาและหลักกฎหมายนี้ข้างต้น จะเห็นได้ว่า การที่คู่สมรสของท่านไปลงลายมือชื่อค้ำประกันหนี้ให้กับบุคคลอื่น โดยที่ท่านไม่ได้ยินยอม หรือให้สัตยาบัน หรือเพียงแค่ลงลายมือชื่อในหนังสือให้ความยินยอมทั่วไป ท่านสามารถที่จะยื่นคำให้การสู้คดีได้ ตามแนวคำพิพากษาฎีกาฉบับดังกล่าว แต่หากเป็นมูลหนี้อื่นๆ เช่นการกู้ยืมเงิน หรือจำนอง หรือ หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490 (1)-(4) ท่านก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางสู้คดีตามข้อเท็จจริงหรือหลักฐานเป็นเรื่องๆ ไป

ข้อควรระวัง ในกรณีที่คู่สมรสไปค้ำประกันบุคคลอื่น โดยท่านไม่ได้รู้เห็น และไม่ได้ให้สัตยาบัน เมื่อลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้กับเจ้าหนี้แล้ว ท่านจะต้องไม่แสดงพฤติการณ์ อันเป็นการให้สัตยาบัน เช่น ชำระหนี้เงินต้นหรือดอกเบี้ยแทน คู่สมรส หรือลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ อันเป็นการให้สัตยาบันที่จะชำระหนี้แทนคู่สมรส ซึ่งจะทำให้การต่อสู้คดียากขึ้น และไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐานไว้ข้างต้นครับ

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ หรือ Facebook: ทนายเจมส์ LK Instagram : james.lk