686 องค์กรฮึดสู้ เจอฝ่ายการเมือง

ประธานคณะกรรมาธิการฯควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนฯจี้รัฐบาลคุ้มครอง 2 อาจารย์ต้านสารพิษที่ถูกขู่ฆ่าจากเรื่องนี้ “มนัญญา” ลุยบางปู-บางพลัด สุ่มตรวจหาข้อมูลนำเข้ายกเลิก 3 สารเคมี ผงะพบสต๊อกเหลืออื้อ กระทรวงอุตสาหกรรมย้ำคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่ได้ขึ้นตรงกับกระทรวง แต่มาจากทุกสารทิศ กระทรวงไม่มีสิทธิ์ชี้นำ เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษ 686 องค์กร นัดบุกพรรคชาติพัฒนาและประชาธิปัตย์ ขอความชัดเจนเรื่องแบนสารเคมีอันตราย ปลุกคนไทยร่วมแบน ลั่นสิ้นปี 62 ไทยต้องปลอดสารเคมีอันตราย

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณี นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา น.ส.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล 2 กมธ. นักวิชาการที่ทำงานวิจัยภัยของสารเคมีร้ายแรงในภาคเกษตรกรรม พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ถูกขู่ถึงขั้นเอาชีวิตว่า นักวิชาการที่ทุ่มเททำงานเพื่อประชาชนคนไทยด้วยความเสียสละ ควรได้รับการยกย่อง เชิดชู ไม่ใช่มาถูกขู่ฆ่าจากผู้เสียประโยชน์ จึงขอฝากไปยังนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พรรคร่วมรัฐบาล ช่วยเร่งรัดติดตามดูแลความปลอดภัย กมธ. และพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เสนอเรื่องถูกข่มขู่เข้ามา ได้แนะให้อาจารย์ทั้ง 2 คนไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ขณะเดียวกัน รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำงานเชิงรุก ไม่ต้องรอการแจ้งความ ควรปกป้องคุ้มครองผู้ทำประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมืองในทันที รวมทั้งควรจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่ขู่จะเอาชีวิตนักวิชาการโดยเร็วที่สุด

วันเดียวกัน น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาสารเคมีเกษตร พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต หลังมีการระงับใบอนุญาตและไม่ต่ออายุใบอนุญาตนำเข้าสารทั้ง 3 ชนิดตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. เพื่อแบนสารดังกล่าวให้หมดไปภายในปี 62 โดยสุ่มตรวจบริษัทผู้ผลิตนำเข้าและจำหน่าย ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ แล้วเดินทางไปยังบริษัทเดียวกันอีกแห่งในพื้นที่เขตบางพลัด กทม.

...

น.ส.มนัญญาเปิดเผยว่า จากการเดินทางมาตรวจสอบได้ขอตรวจใบอนุญาตทั้ง 3 สาร บริษัทให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จากข้อมูลของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ระบุว่าปี 2561 นำเข้าพาราควอต 580,000 กก. ปี 2562 ไม่มีตัวเลขแจ้งการนำเข้า แต่ปรากฏว่าขณะนี้มีสต๊อกสารพาราควอตอยู่ 300,000 กิโลกรัม โดยระบุว่าได้รับซื้อมาจากบริษัทภายในประเทศ ขณะที่ปี 2562 มีการนำเข้าไกลโฟเซต 500,000 กิโลกรัม เหลือสต๊อก 270,000 กิโลกรัม ส่วนบริษัทที่ 2 เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ไม่มีสต๊อกสารเคมีคงค้าง

น.ส.มนัญญากล่าวว่า จากการสอบถามข้อมูลของผู้ประกอบการพบว่า การนำเข้าสารเคมีทั้ง 3 ชนิดจากต่างประเทศ ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า เพราะเป็นสินค้าที่นำมาให้เกษตรกรใช้ประโยชน์และช่วยลดต้นทุนการผลิต ขณะที่การส่งออกไม่เสียภาษี มองว่าเกษตรกรไม่ได้ผลประโยชน์ใดๆ จึงอาจเสนอแนวทางเก็บภาษีแก่ผู้ส่งออกสารเคมีดังกล่าวและนำเงินภาษีมาใช้ส่งเสริมโครงการที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกร จะรวบรวมข้อมูลจากการลงพื้นที่ทั้งหมด โดยต้องตรวจสอบให้ชัดเจนอีกครั้ง เพื่อนำไปเสนอพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันจันทร์ที่ 7 ต.ค. หาแนวทางยกเลิกสารเคมีดังกล่าวต่อไป

นายประกอบ วิวิธจินดา รักษาการอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมขอยืนยันว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่ได้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม แต่เป็นคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 กรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานหลาย หน่วยงาน ทั้งจากกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่ครอบคลุมในทุกมิติ คณะกรรมการแต่ละคน มีวิจารณญาณและเอกสิทธิ์ในการพิจารณาลงคะแนนในทุกๆเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยอิสระ โดยเฉพาะเรื่องการห้ามใช้สารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาข้อมูลเพื่อมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่งในเร็วๆนี้

นายประกอบกล่าวอีกว่า แม้กระทรวงอุตสาหกรรมจะมีความเห็นว่าสมควรที่จะยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว แต่ก็คงไม่สามารถดำเนินการในสิ่งที่ขัดกับมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่เป็นคณะกรรมการตามกฎหมายนี้ได้ เนื่องจากไม่ว่าจะให้มีการยกเลิกหรือให้มีการจำกัดการใช้ ต้องดำเนินการ โดยใช้มติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 ก.พ. คณะกรรมการฯมีมติเห็นชอบแนวทางการจำกัดการใช้ มากกว่าการยกเลิกการใช้ กระทรวงเกษตรฯให้ความเห็นว่า ควรจะปรับกระบวนการ ใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด โดยกระทรวงเกษตรฯจะออก 5 มาตรการ เพื่อจำกัดการใช้ เช่น ผู้ใช้และผู้รับจ้างฉีดสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ต้องผ่านการฝึกอบรมจากกรมวิชาการเกษตร การให้ความรู้กับเกษตรกร เป็นต้น กระทรวงเกษตรฯจะต้องรายงานความคืบหน้าของมาตรการจำกัดการใช้ 3 สารเคมีนี้ทุกๆ 3 เดือน เมื่อครบกำหนด 2 ปี นับจากเดือน ก.พ. จะสรุปผลของมาตรการจำกัดการใช้ว่าได้ผลหรือไม่ จากนั้นคณะกรรมการฯจะลงมติว่าจะระงับการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้หรือไม่

วันเดียวกัน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย กล่าวถึงกรณีที่ไบโอไทยมีการเปิดให้คนไทยร่วมลงชื่อแบนสารเคมีอันตราย ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.ว่า ขณะนี้มีผู้ร่วมลงรายชื่อแล้วประมาณ 52,000 ราย ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.เป็นต้นไป เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ที่ 686 องค์กรรวมตัวกัน จะเริ่มรณรงค์อย่างเต็มที่ ในวันที่ 8 ต.ค. จะเข้าพบพรรคชาติไทยพัฒนา วันที่ 9 ต.ค.เข้าพบพรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นจะมีการร่วมกันเคลื่อนไหวกดดันกรรมการวัตถุอันตราย ในการลงมติแบนสารเคมีอันตรายให้เป็นไปอย่างเปิดเผยไม่เป็นมติลับและจะขอเข้าพบนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมารัฐมนตรี 3 กระทรวง คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงอุตสาหกรรม ต่างมีความชัดเจนว่าไม่เอาสารเคมีอันตรายแล้วกระบวนการขณะนี้ติดอยู่ตรงไหน ถึงยังไม่สามารถแบนสารเคมีได้ ผอ.มูลนิธิชีววิถีกล่าวว่า ในอดีตตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขประกาศชัดเจนว่าไม่เอา แต่ติดที่กระทรวงเกษตรฯ ครั้งนี้กระทรวงเกษตรฯมีบางส่วนที่ชัดเจนแล้วว่าไม่เอา แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ลังเล ในสัปดาห์หน้าจึงเป็นเหตุผลให้เครือข่ายฯ เดินหน้าเรียกร้องให้กระทรวง เกษตรฯ ทั้งที่มาจากพรรค ปชป.และพรรค ชทพ. ที่กำกับดูแล 5 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าอาหารและเกษตรแห่งชาติ ซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพราะหากการแบนสารเคมีเป็นมติของทั้ง 5 หน่วยงาน การแบนก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงเกษตรมักเป็นคนขวางเรื่องการแบนสารเคมีอันตราย

...

นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า ในส่วนของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ซึ่งมาจากพรรค ปชป.จะเรียกร้องให้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจน ที่ผ่านมาบอกว่าแบน แต่ยังไม่มีหลักฐานเอกสารชัดเจน การดำเนินการครั้งนี้เครือข่ายฯอยากเห็นผลภายในสิ้นปี 2562 ไทยปลอดสารเคมีอันตราย เพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับคนไทย เพราะมติของผู้ตรวจการแผ่นดินชัดเจนว่าให้ยกเลิกการใช้พาราควอตภายในสิ้นปี 2562 เป็นเส้นใต้ที่สมัย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สาธารณสุข ได้เสนอต่อกรรมการวัตถุอันตรายด้วย