(ภาพ : น.ส.ณญาดา อมตวณิชย์ ประธานชมรมสานใจสายใยผ้าซิ่น รับรางวัลส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์ผ้าทอไทยสู่อาเซียน และ ทิวากร ไพเราะ รองประธานฯ รับรางวัลการออกแบบเสื้อผ้าและส่งเสริมการแต่งกายผ้าไทย.)
ในสมัยโบราณ “ผ้าซิ่น” ถือเป็นเครื่องแต่งกายที่มีความโดดเด่นของสตรี มีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ทั้งขนาด การนุ่ง และลวดลายบนผืนผ้า โดยมีการสวมใส่ในประเทศไทยและลาว โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทย
การทอผ้าซิ่นถือเป็นงานในบ้าน เป็นงานของสตรี มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทอสำหรับใช้สวมใส่เอง และสำหรับใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น งานแต่ง งานบวช หรืองานบุญประเพณีต่างๆ การนุ่งผ้าซิ่นของสตรีจึงเป็นเหมือนการแสดงฝีมือของตนให้ปรากฏ ผ้าซิ่นที่ทอได้สวยงาม มีฝีมือดี จะเป็นที่กล่าวขวัญและชื่นชมอย่างกว้างขวาง
...
“ผ้าซิ่น” ของไทยแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ อย่างแรกคือ ผ้าซิ่นสำหรับใช้ทั่วไป มักจะไม่มีลวดลาย ทอด้วยผ้าฝ้ายหรือด้ายโรงงาน อาจใส่ลวดลายบ้างเล็กน้อยในเนื้อผ้า
ส่วนอีกลักษณะคือ ผ้าซิ่นสำหรับใช้ในโอกาสพิเศษ มักจะทอด้วยความประณีตเป็นพิเศษ มีการใส่ลวดลาย สีสันงดงาม และใช้เวลาทอนานนับแรมเดือน
ขนาดและลักษณะของผ้าซิ่นนั้นขึ้นกับฝีมือ รสนิยม ขนบการทอในแต่ละท้องถิ่น และยังขึ้นอยู่กับขนาดของกี่ทอด้วย การทอผ้าด้วยกี่หน้าแคบ จะได้ผ้าที่แคบ ผ้าซิ่นสำหรับใช้จริงจึงต้องนำมาต่อเป็นผืนให้กว้างขึ้น ผ้าซิ่นในปัจจุบันจะทอด้วยกี่หน้ากว้าง ไม่ต้องต่อผืนอย่างในสมัยโบราณ
ปัจจุบันมีผู้คนจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจสวมใส่ผ้าซิ่นมากขึ้น อาจจะเป็นไปได้ว่าอิทธิพลจากละครย้อนยุคเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สตรีไทยหันมาสวมใส่ผ้าซิ่น
จากการที่ ชมรมพัฒนาธุรกิจและทรัพยากรมนุษย์แห่งประเทศไทย ได้จัดงานเสวนา “ทิศทางนักบริหารและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในศตวรรษที่ 21” และพิธีมอบ “รางวัลบุคคลแห่งอาเซียน ครั้งที่ 2” (BEST EXECUTIVE AEC AWARDS 2nd 2019) ที่โรงแรม อมารีดอนเมือง กทม. เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2562ที่ผ่านมา มี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ อดีตรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล
...
ผู้ที่ได้รับรางวัลและเป็นที่น่าสนใจคือ น.ส.ณญาดา อมตวณิชย์ ประธาน ชมรมสานใจสายใยผ้าซิ่น ได้รับรางวัลด้านส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์ผ้าทอไทยสู่อาเซียน และรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อแผ่นดิน
อีกคนคือ นายทิวากร ไพเราะ รองประธานชมรมฯ และผู้บริหารห้องเสื้อ TUM TAD PHA ได้รับรางวัลด้านการออกแบบเสื้อผ้าส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมการแต่งกายแบบไทยสู่อาเซียน
สำหรับ “ชมรมสานใจสายใยผ้าซิ่น” เป็นชมรมที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2560 โดยทีมจิตอาสาผู้มีใจรักผ้าไทยและสวมใส่ผ้าซิ่นเป็นประจำ นำทีมโดย น.ส.ณญาดา อมตวณิชย์, น.ส.วรรณาภรณ์ ศิริวุฒิ, นางณัฐกาณจน์ ภุมารินธนกาญน์, นายทิวากร ไพเราะ, น.ส.บุณฑริกา โฮ่สกุล, นางอริสา เอี่ยมโพธิ์ศักดา และ น.ส.นับเงิน รตะว่องไว
...
มีวัตถุประสงค์การก่อตั้งเพื่อสืบสานเผยแพร่และอนุรักษ์ผ้าซิ่นผ้าทอของไทยในทุกภูมิภาครวมถึงผ้าทอในอาเซียน ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างโดยผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับผู้มีความรักในผ้าทอไทยและผู้นิยมสวมใส่ผ้าซิ่น ได้แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องผ้าทอไทยอย่างถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญด้านภูษาพัสตราภรณ์
ตลอดจนเป็นผู้เชื่อมความสัมพันธ์ และสนับสนุนผู้ทอผ้า ร้านค้า ผู้สวมใส่ รวมถึงการสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัดงานประจำปีตลาดนัดผ้าซิ่นสานใจ ที่ศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา จัดอย่างต่อเนื่องมาถึง 5 ปี
...
เป็นงานที่มีผู้ทอ ผู้ขายจากภูมิภาคต่างๆได้พบปะกับผู้สวมใส่ จนงานนี้เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มผู้รักการสวมผ้าซิ่นและผ้าทอไทย
นอกจากนั้น ยังจัดกิจกรรมเผยแพร่ผ้าซิ่นไทยให้แก่หน่วยงานราชการและเอกชนที่สนใจให้ชมรมฯร่วมเผยแพร่การนุ่งซิ่น เช่น จัดแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไทยในงานฝ้ายทอใจของศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ ปัจจุบันชมรมสานใจฯ มีสมาชิกทั้งสิ้น 17,000 คน
“เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ชมรมฯได้จัดงานตลาดนัดสานใจ ครั้งที่ 5 เชิญคุณแม่สุวะลัย อมตวณิชย์ ที่ปรึกษาชมรมฯ และคุณอาภัสรา หงสกุล อดีตนางงามจักรวาล มาเป็นประธานเปิดงาน มีการจัดเสวนาผ้าไทย แฟชั่นโชว์ และเป็นครั้งแรกที่ดึงเยาวชนรุ่นใหม่ให้มาออกแบบแฟชั่นร่วมสมัยโดยใช้ผ้าไทยด้วย คนสนใจกันมาก” น.ส.ณญาดากล่าว
ส่วนผู้สนใจจะร่วมกิจกรรมกับชมรมฯ ติดต่อขอเข้าร่วมได้ทางเฟซบุ๊กของชมรมฯ และหากหน่วยงานราชการมีกิจกรรมที่ชมรมฯสามารถช่วยเหลือได้ สามารถติดต่อได้ที่ น.ส.ณญาดา ประธานชมรมฯ โทร.08-8693-0360
ที่น่าสนใจอีกงานคือวันที่ 17 พ.ย. 2562 ชมรมสานใจสายใยผ้าซิ่น มีกำหนดจะจัดงาน “วรรณคดีสโมสร” ฉลองครบรอบ 2 ปี ที่โพธาลัย เลเวอร์ ปาร์ค กรุงเทพ ถนนเลียบด่วนเอกมัย-รามอินทรา กทม. เพื่อเชิญสมาชิกของชมรมฯ มาร่วมสนุกสนานและเฉลิมฉลองร่วมกัน
ในงานจะมีการแสดงจากสมาชิก การจัดประกวดการแต่งกายนางในวรรณคดี และจับรางวัลผู้โชคดี เพื่อมอบรางวัลผ้าซิ่นราชสำนักมูลค่า 15,000 บาท แก่ผู้โชคดีที่มาร่วมงานด้วย
งานนี้นอกจากจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ผ้าซิ่น ผ้าทอไทยแล้วยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ผ้าทอไทยกลายเป็นที่รู้จักของคนต่างชาติมากยิ่งขึ้น.
ทีมข่าวภูมิภาค