วันวานตั้งข้อสังเกตการเก็บภาษีความหวานของบ้านเรา การตรวจวัดค่าปริมาณความหวานจากปริมาณน้ำตาลทราย ในทางปฏิบัติตรวจวัดจากปริมาณซูโครส หรือน้ำตาลธรรมชาติที่มีอยู่ในพืชและผลไม้

ส่งผลให้ผลผลิตจากเกษตรกร ไม่ว่าอ้อย สารพัดผลไม้ที่นำไปผลิตเป็นเครื่องดื่ม โดนภาษีกันถ้วนหน้า...ส่วนเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมจากน้ำตาลเทียมทำมาจากสารเคมี ไม่มีซูโครส ตรวจวัดไม่เจอไม่ต้องจ่ายภาษี

เขียนมาถึงตรงนี้ หลายคนที่ได้ความรู้มาจากองค์เทพกูเกิล คงมองว่าเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะน้ำตาลจากธรรมชาตินี่แหละตัวดี ทำให้เกิดโรคอ้วน โรค NCDs...ไม่เหมือนน้ำตาลเทียม ที่ให้ความหวานก็จริงแต่ให้พลังงานต่ำ มันเลยไม่ทำให้อ้วน

สิ่งเหล่านี้มีความจริงแท้แค่ไหน หรือ FAKE NEWS บิดเบือนความจริง

ข้อมูลจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาปัญหาเรื่องอ้อยในคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ สภาผู้แทนราษฎร

การบริโภคน้ำตาลเทียมเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน

และสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม มีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด...ที่นิยมมากที่สุดเพราะรสชาติใกล้เคียงน้ำตาลทราย คือ แอสปาร์เทม หวานกว่าน้ำตาล 200 เท่า ขัณฑสกร หวานกว่าน้ำตาล 300-700 เท่า, อะชิชัลเฟรมเค หวานกว่าน้ำตาล 200 เท่า, ซูคราโลส หวานกว่าน้ำตาล 600 เท่า

รายงานการทบทวนงานวิจัยและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของเครื่องดื่มผสมน้ำตาลและน้ำตาลเทียมกับโรคอ้วน จากงานวิจัย 11 เรื่อง พบว่า การบริโภคน้ำอัดลมที่มีน้ำตาล มีความเสี่ยงจะเป็นโรคอ้วนเพิ่ม 18%

ในขณะที่มี 3 ผลการศึกษาเรื่องการบริโภคน้ำอัดลมใส่น้ำตาลเทียม มีความเสี่ยงจะเป็นโรคอ้วน 59%

...

ก่อปัญหามากกว่า ทำไมไม่จัดการ...มุ่งแต่เล่นงานน้ำตาลธรรมชาติจากเกษตรกร มีอะไรอยู่เบื้องหลังมั้ย หรือคิดจะสร้างสถานการณ์ก่อตั้งกองทุนใหม่ อย่างกองทุนภาษีบาป หรือเปล่า.

สะ–เล–เต