1 ต.ค.2562...วันนี้แล้วสินะ พิกัดอัตราภาษีความหวานที่บังคับใช้มาตั้งแต่ 16 ก.ย.2560 จะถูกเก็บภาษีแพงขึ้น ตามขั้นบันไดในระยะที่ 2 ตั้งแต่ 1 ต.ค.62–30 ก.ย.64

จากเดิมเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร มีส่วนผสมของน้ำตาลทราย 10-14 กรัม ต้องจ่ายภาษีเพิ่มจาก 0.50 บาท เป็น 1 บาท...มีส่วนผสมของน้ำตาลทราย 14-18 กรัม ถูกเก็บเพิ่มจาก 1 บาท เป็น 3 บาท และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลทรายเกินกว่า 18 กรัม ถูกเก็บเพิ่มจาก 1 บาท เป็น 5 บาท

เห็นข่าวนี้หลายคนคงเชียร์ให้เก็บภาษีกันให้หนักๆ เพราะความหวานคือตัวก่อให้เกิดโรค NCDs โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการกิน ติดหวานเค็มมันนั่นแหละ

แต่ยังมีอีกมุมที่หลายคนไม่รู้...ภาษีที่เก็บนั้น เพื่อให้คนไทยกินหวานน้อยจริงแค่ไหน มีอะไรหมกเม็ดซ่อนอยู่หรือไม่

เพราะไปๆมาๆ ภาษีที่เก็บมาร่วม 2 ปี กว่า...ดูออกจะไปในทางทำร้ายเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และเกษตรกรปลูกผลไม้ป้อนเข้าโรงงานผลิตเครื่องดื่มแปรรูป

ข้อมูลของคณะอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาปัญหาเรื่องอ้อยในคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ สภาผู้แทนราษฎร พบความพิสดารในการตรวจค่าความหวานเพื่อเก็บภาษี...ตรวจวัดกันเฉพาะปริมาณซูโครส

ซูโครสเป็นน้ำตาลธรรมชาติ ที่พบอยู่ในพืชและผลไม้หลายชนิด

มันเลยมีคำถามตามมาว่า ในโลกใบนี้ สารที่ให้ความหวานมีแค่ซูโครส หรือน้ำตาลทราย เท่านั้นเหรอ...คำตอบมีมากมายหลายชนิด ที่เขาเรียกกันหยาบๆว่า น้ำตาลเทียมนั่นแหละ

หวานกว่าน้ำตาลจากอ้อยหลายร้อยเท่า

เมื่อการตรวจวัดเพื่อเก็บภาษี ดูแต่ปริมาณซูโครส น้ำตาลเทียมพวกนี้ผ่านฉลุย ไม่ต้องจ่ายภาษี...เลยต้องถามภาษีความหวาน ทำเพื่ออะไร เพื่อใครกันแน่

...

เพราะที่แน่ๆ การเก็บกาษีเฉพาะปีที่แล้ว ทำให้เครื่องดื่มน้ำผลไม้ยอดขายลดลง 11.4% คิดเป็นมูลค่า 26,000 ล้านบาท.

สะ-เล-เต