จากปัญหาฝนทิ้งช่วงทำให้ลำน้ำชีตื้นเขิน กรมชลประทาน ได้แก้ปัญหาด้วยการปล่อยน้ำจากเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 800,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อีกวันละ 500,000 ลบ.ม. พร้อมทั้งเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนมหาสารคามและเขื่อนร้อยเอ็ดอีก 700,000 ลบ.ม.

เพื่อให้สถานีสูบน้ำเพื่อการประปาที่อยู่ตลอดลำน้ำชีนำน้ำไปใช้ได้ ที่สำคัญยังได้นำเครื่องจักรเข้าไปขุดลอกเปิดทางน้ำ พร้อมลงพื้นที่ชี้แจงสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน โดยได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ชะลอการปลูกข้าวออกไป เพราะจะต้องสำรองไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งมีความสำคัญมากที่สุด

นอกจากนี้ ภายในกันยายน 2562 กรมชลประทานและหน่วยงานทหารพัฒนาจะดำเนินการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำบริเวณ 2 ฝั่งลำน้ำชีให้แล้วเสร็จ 11 โครงการ เช่น ขุดลอกอ่างฯ แก่งเลิงจาน, อ่างฯหนอง-บ่อ, อ่างฯห้วยเชียงคำ เป็นต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำฝนระลอกใหม่ที่กำลังจะมาให้ได้มากที่สุด จะสามารถเก็บน้ำสำรองไว้ในฤดูแล้ง
ถัดไปได้อีก 1.34 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับแหล่งใช้น้ำหลักของประชาชนและเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด และยโสธร ทั้งตัวลำน้ำชีและหนองน้ำสาธารณะที่กระจายอยู่โดยรอบ ซึ่งมักจะประสบปัญหาน้ำล้นตลิ่งในช่วงฤดูน้ำหลาก และน้ำแห้งขอดในช่วงฤดูแล้งเป็นประจำ

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน ชี้แจง ขณะนี้ได้มีการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มความจุให้กับแก้มลิงหรือหนองน้ำสาธารณะหรืออาคารประกอบไปแล้ว 138 แห่ง สามารถเก็บน้ำได้ 136 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ถึง 113,236 ไร่

แต่อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพื้นที่พบว่า ยังมีหนองน้ำสาธารณะและแก้มลิงกระจายอยู่สองฝั่งลำน้ำชีอีกกว่า 100 แห่ง ที่สามารถพัฒนาเพิ่มความจุให้เต็มศักยภาพได้ เช่น แก่งละว้า, แก่งน้ำต้อน, บึงกุดเค้า ฯลฯ ภายในปี 2565 สำนักงานชลประทานที่ 6 และ 7 จะทำการเข้าพัฒนาแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบอีกจำนวน 129 แห่ง เก็บน้ำได้เต็มศักยภาพรวม 257.96 ล้าน ลบ.ม. จะมีพื้นที่รับประโยชน์ 171,583 ไร่.

...

สะ-เล-เต