ตั้งทีมงานช่วยเหลือ ร.ร.เอกชน เล็งเพิ่มโทษกลุ่ม “นักเรียนนักเลง”

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. เวลา 08.00 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ พร้อมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบริการจัดการโรงเรียนเอกชนที่โรงเรียนลาซาล กรุงเทพฯ ทั้งนี้ นางกนกวรรณเปิดเผยหลังการตรวจเยี่ยมว่า ได้หารือร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนเพื่อรับทราบปัญหาต่างๆของโรงเรียนเอกชน ทั้งเรื่องสิทธิของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ได้รับสิทธิ วิทยฐานะ สวัสดิการต่างๆ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่ใกล้เคียงกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งการพัฒนาศักยภาพครู และเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้รับการลดหย่อนภาษีทั้งสถานศึกษาเอกชนในระบบและนอกระบบ ขณะเดียวกันยังได้วางแนวทางแก้ปัญหาวิกฤติโรงเรียนเอกชนทยอยปิดกิจการ ซึ่งตนจะประมวลผล และตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการศึกษาเอกชน มีนายพะโยม ชิณวงศ์ คณะทำงานตน เป็นประธาน

จากนั้นนางกนกวรรณได้เดินทางต่อไปยังวิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงเทพ เพื่อรับฟังปัญหานักเรียน นักศึกษาก่อเหตุทะเลาะวิวาท โดยนางกนกวรรณกล่าวหลังการหารือกับผู้บริหารวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องว่า เรื่องนี้สำคัญมาก เมื่อเกิดเหตุแต่ละครั้งจะมีผู้บริสุทธิ์ได้รับผลกระทบตามมา ดังนั้นตนจึงต้องการร่วมมือเพื่อหาทางออกการแก้ปัญหาร่วมกับผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ซึ่งเท่าที่รับทราบข้อมูลพบว่า ศธ.มีมาตรการบท ลงโทษขั้นสูงสุดคือ การปิดสถาบันการศึกษา แต่ตนยังไม่อยากให้มีการดำเนินการถึงขั้นนั้น แต่ในอนาคตอาจมีความเป็นไปได้ที่เราจะเพิ่มบทลงโทษที่เข้มข้นมากขึ้นในกระบวนการทางกฎหมายกับเด็ก และเยาวชนที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท แต่สิ่งที่อยากให้ทำในขณะนี้ทันทีคือ การเพิ่มนักจิตวิทยาในวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นมาก รวมถึงจะให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาทุกแห่งจัดกิจกรรมปลุกจิตสำนึกระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องที่ถูกต้อง เพื่อลดปัญหาความรุนแรง

...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นางกนกวรรณลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม นางสุภารัตน์ แสงอรุณ ผู้ปกครองนายกมลฉัตร แสงอรุณ หรือน้องเก้า นักเรียน โรงเรียนปทุมคงคา ที่ถูกทำร้ายร่างกายด้วยอาวุธมีดบนรถเมล์สาย 180 ระหว่างเดินทางกลับบ้านจากนักศึกษาอาชีวะต่างสถาบันจน
เสียชีวิต ได้ยื่นข้อเสนอให้ ศธ.ออกมาตรการ หรือบทลงโทษให้วิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงเทพ จะได้เกิดความเกรงกลัวต่อความผิด เพื่อจะเป็นประโยชน์มากมายต่อสังคม.