เนบิวลาปู Credit : NASA

หอดูดาว The Tibet Air Shower Gamma Collaboration บนที่ราบสูงทิเบต ซึ่งประกอบด้วยเครื่องตรวจจับอนุภาคจำนวน 600 เครื่อง สร้างขึ้นบนพื้นที่ขนาด 65,000 ตารางเมตร มีวัตถุประสงค์ใช้ตรวจจับอนุภาคย่อยของอะตอมที่เล็ดลอดออกมาจากอวกาศ ล่าสุดนักวิจัยจากหลายสถาบันในจีนและญี่ปุ่น รายงานว่าเครื่องมือดังกล่าวได้ตรวจพบโฟ-ตอนหรืออนุภาคของแสงพลังงานสูงออกมาจากเนบิวลาปู

ทีมวิจัยเผยว่าโฟตอนเหล่านั้นชนกับอนุภาคในชั้นบรรยากาศของโลกและรังสีคอสมิกหรืออนุภาคพลังงานสูงที่วิ่งไปมาอยู่ทั่วอวกาศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโปรตอนและนิวเคลียสของอะตอม นับเป็นโฟตอนพลังงานสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกได้ ทีมได้ใช้ข้อมูลจากการทำงานร่วมกันเพื่อติดตามเส้นทางของโฟตอน และพบว่าพวกมันมีแหล่งกำเนิดในเนบิวลาปู ที่เป็นซากจากซุปเปอร์โนวาที่พบครั้งแรกในปี พ.ศ.1597 เนบิวลาปูตั้งอยู่ในแขนกังหันที่เรียกว่าแขนเพอร์–ซิอุส อันเป็น 1 ใน 4 ของแขนกังหันของกาแล็กซีทางช้างเผือก อยู่ห่างจากโลกราว 6,500 ปีแสง

การวิจัยโฟตอนพลังงานสูงจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าทำไมมันจึงมีพลังงานมาก เนื่องจากทฤษฎีปัจจุบันชี้ว่าโฟตอนได้รับพลังงานจากอนุภาคพลังงานสูงอื่นๆ ผ่านการกระเจิงแบบคอมป์ตัน (Compton) ซึ่งโฟตอนจะดูดซับพลังงานของอนุภาคพลังงานสูงเมื่อพวกมันชนกัน เช่น ในช่วงเกิดซุปเปอร์โนวา เชื่อกันว่าโฟตอนนั้นเกิดจากกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์บิ๊กแบง (Big Bang) หรือทฤษฎีที่อธิบายการเกิดของเอกภพนั่นเอง.