พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ.2562 ที่ออกมาเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันนั้นมีข้อกำหนดและกลวิธีในการเสริมสร้างจริยธรรมให้แก่คนทำงานภาครัฐทุกประเภทอย่างจริงจัง
ประเด็นสำคัญคือการกำหนดให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลแต่ละประเภท มีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกระบวนการรักษาจริยธรรม และการประเมินผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม รวมทั้งให้มีหน้าที่และอำนาจจัดหลักสูตรการฝึกอบรม การเผยแพร่ความเข้าใจ ตลอดจนการกำหนดมาตรการจูงใจเพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของรัฐมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นแบบอย่างที่ดี และมาตรการที่ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่ ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม โดยอาจกำหนดมาตรการเพื่อใช้ในการบริหารงานบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทนั้น
ในโอกาสนี้ นายประวีณ ณ นคร อดีตเลขาธิการ ก.พ. ที่ปรึกษาสำนักงาน ก.พ. และที่ปรึกษาคณะทำงานจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ ได้เรียบเรียงหนังสือ เรื่อง มาตรการจูงใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติกรรมทางจริยธรรม ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการจูงใจเพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นแบบอย่างที่ดี โดยกำหนดมาตรการจูงใจ 3 มาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 ตรึงใจ คือการตรึงใจคนไม่ให้เอนเอียงไปในทางที่ไม่พึงประสงค์ โดยการพัฒนาจิตสำนึกให้ตระหนักรู้ว่าพฤติกรรมใดควรทำ และพฤติกรรมใดไม่ควรทำ วิธีการพัฒนาจิตสำนึกอาจดำเนินการได้โดยการฝึกอบรม มีเครื่องเตือนสติที่เข้าใจง่าย และทำให้เห็นชัดเจน รวมทั้งการให้ทำพันธะ โดยกล่าวคำปฏิญาณตนในโอกาสต่างๆว่า จะประพฤติดี มีจริยธรรม ซึ่งต้องมีกระบวนการในการกำกับดูแล ตรวจสอบโดยผู้บังคับบัญชาและภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐก็ต้องวางระบบการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างจริงจัง มีการประเมินพฤติกรรมในการรักษาจริยธรรมเพื่อใช้ในกระบวนการบริหารงานบุคคล
...
มาตรการที่ 2 โน้มน้าว คือการชักชวนให้รักษาจริยธรรม ตระหนักถึงศักดิ์ศรีของข้าราชการ มองเห็นปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมของข้าราชการที่ไม่มีจริยธรรม โดยใช้เทคนิคการฝึกอบรม กำหนดมาตรฐานหรือแนวทางปฏิบัติ หรือให้คำแนะนำในการรักษาจริยธรรม ซึ่งการโน้มน้าวนี้ต้องดำเนินการตามระดับพัฒนาการทางจิตของบุคคลจึงจะเกิดผล
มาตรการที่ 3 ชักนำ คือชักนำให้ทำตาม เพราะการจูงใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นแบบอย่างที่ดี นอกจากจะใช้วิธีโน้มน้าวแล้วยังจะต้องใช้วิธีชักนำให้ทำตามเพิ่มขึ้นอีกแรงหนึ่ง โดยผู้มีหน้าที่ชักนำ คือ ผู้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจและหน้าที่กำกับดูแลให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยใช้เทคนิค 3 ประเภท คือ สอนให้จำ ทำให้ดู และ ชูให้ศรัทธา
ทั้ง 3 มาตรการนี้ ท่านผู้เขียนได้ยกตัวอย่างการดำเนินการไว้โดยละเอียด ซึ่งทางสำนักงาน ก.พ. กำลังดำเนินการจัดทำเอกสารในเรื่องนี้ ทั้งรูปเล่มหนังสือและไฟล์ออกเผยแพร่ทางเว็บไซต์
เพื่อให้ส่วนราชการเอาไว้ใช้เป็นคู่มือในการส่งเสริมจริยธรรมแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการชักนำซึ่งต้องใช้เทคนิค 3 ประเภท คือ สอนให้จำ ทำให้ดู และชูให้ศรัทธานั้น จะนำมาบันทึกไว้เป็นตัวอย่างในวันพรุ่งนี้.
"ซี.12"