นโยบายไม่บรรจุนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ ในปี 2565 กลายเป็นเรื่องสะเทือนวงการแพทย์ไทย เกิดข้อถกเถียงถึงบทสรุปที่ยังไม่สามารถตีความได้ว่า เป็นเรื่องของการ “ไม่บรรจุแพทย์ และทันตแพทย์” ในตำแหน่งใหม่ แต่บรรจุเฉพาะในตำแหน่งเดิมหรือไม่มีการบรรจุทั้งหมดเลย

และ...ยกเลิกรูปแบบการใช้ทุนการศึกษาทั้งหมด

ตามคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) แจ้งต่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ เพื่อรองรับการบรรจุนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ในปี 2564 เป็นปีสุดท้าย

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ให้ข้อมูลว่า ในเรื่องยกเลิกไม่บรรจุแพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ในปี 2565 นั้น ยังต้องรอความชัดเจน ซึ่งต้องอยู่กับนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ และกระทรวงสาธารณสุขในปีนั้น ว่ามีความเห็นอย่างไร เพราะเป็นเรื่องอนาคต ที่มีข้อมูลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

แต่บอกข้อเท็จจริงได้ว่า ถ้าไม่มีระบบบรรจุอัตโนมัติ ในมุมกลับกันอาจส่งผลดีต่อแพทย์และทันตแพทย์ เพราะไม่ต้องถูกบังคับจับสลากไปประจำโรงพยาบาลที่ตัวเองไม่มีสิทธิ์เลือกเป็นระยะเวลา 3 ปี

ในการใช้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาล ตามข้อกำหนดมาตั้งแต่อดีตว่านักศึกษาแพทย์ 1 คน หากไม่ทำงานใช้ทุน ต้องจ่ายเงินคืนตามสัญญาจำนวน 4 แสนบาท ซึ่งเกิดจากรัฐบาลสนับสนุนผ่านคณะแพทยศาสตร์ ของรัฐ 19 แห่ง ตลอดหลักสูตร 6 ปี ราว 1,800,000 บาทต่อคน

ทำให้แพทย์จบใหม่ในสถาบันรัฐ ผูกพันต้องทำงานใช้ทุนคืนให้กับรัฐบาลในกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่นๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลในต่างจังหวัด มีอัตราเว้นว่างอยู่ ต้องถูกส่งไปรับราชการกระจายตามโรงพยาบาลในพื้นที่ 77 จังหวัด

แต่ก่อนจับสลากใช้ทุนนักศึกษาแพทย์แต่ละคน มีการสำรวจโรงพยาบาลทั่วประเทศ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ว่ามีอัตราว่างเท่าไร และตัวเองประสงค์จึงสมัครลงประจำโรงพยาบาลนั้น

...

หากตำแหน่งในปีนั้นน้อยกว่าแพทย์จบใหม่ที่สนใจ ลงชื่อเกินอัตรา ต้องจับสลากออก ใครจับได้ก็อยู่...ใครจับไม่ได้ก็ต้องไปสมัครที่อื่นแทน

ปัจจุบันมีแพทย์จบใหม่จากสถาบันแพทย์ของรัฐ 19 แห่ง แต่ไม่รวมเอกชน 2 แห่ง ประมาณ 2,600 คนต่อปี ถูกจัดให้ลงพื้นที่ใช้ทุน ตามคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชศาสตร์ผู้ทำสัญญาฯชดใช้ทุน มีทั้งทหาร ตำรวจ สถาบันการศึกษา และในกระทรวงสาธารณสุข โดยมีพันธสัญญา 3 กลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มที่ 1.นักศึกษาตามโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท กลุ่มที่ 2.โครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน หรือ ODOD ทั้ง 2 กลุ่ม มีพันธสัญญาที่ต้องถูกส่งไปประจำตามภูมิลำเนาของตัวเอง

กลุ่มที่ 3.นักศึกษาจำพวกสอบคัดเลือกโดยตรง จากกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ กสพท. เมื่อจบแพทย์ใหม่ จะไม่มีการกำหนดพื้นที่ ต้องเข้าสู่ระบบสมัครเข้าโรงพยาบาลที่มีตำแหน่งว่าง ตามรัฐบาลกำหนด

เพราะต้องจับสลากใช้ทุน มีบางคนต้องถูกส่งประจำโรงพยาบาล ในพื้นที่ที่ตัวเองไม่ทราบเป็นพื้นที่ใด และแน่นอนต้องเป็นโรงพยาบาลที่ขาดแคลนแพทย์เท่านั้น ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดห่างไกลและขาดแคลน ซึ่งปีแรกแพทยสภาจะขอให้อยู่ในโรงพยาบาลจังหวัดก่อน และปีที่ 2 และ 3 จึงไปอยู่โรงพยาบาลในชุมชน

พูดง่ายๆคือ ข้อกำหนดบังคับให้ไปบรรจุใช้ทุน ที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้

ทำให้โรงพยาบาลได้แพทย์ไปทำงานประจำโรงพยาบาลตามอัตราว่าง แต่แพทย์จบใหม่อาจไม่ถูกใจ ปรับตัวกับพื้นที่ไม่ได้ ส่งผลให้ส่วนหนึ่งลาออก...

ในอนาคตถ้ามีทางเลือกให้กับแพทย์ที่จบใหม่ ซึ่งไม่มีการบังคับใช้ทุน แต่มีการบรรจุเป็นข้าราชการแบบเปิดรับตรง เช่น โรงพยาบาลเปิดรับสมัครแพทย์ประจำพื้นที่ที่ขาดแคลนเอง มีการปล่อยอิสระให้แพทย์เลือกประจำโรงพยาบาล อาจเลือกสมัครพื้นที่ที่ตัวเองอาศัยอยู่ตามภูมิลำเนาได้มากขึ้น

ข้อดีคือ มีผลให้แพทย์มีความสุขในการทำงานเกิดประสิทธิภาพ เพราะไม่ใช่ทำงานด้วยวิธีการถูกบังคับ และโรงพยาบาลเคยจำใจรับบุคลากรที่ไม่เต็มใจไปทำงาน จะมีตัวเลือกบุคลากรสามารถคุยกันเข้าใจกับคนในท้องถิ่น ภูมิภาคใกล้เคียง เพราะมีความประสงค์เข้ามาประจำโรงพยาบาลนี้อย่างแท้จริง ทำให้การบริการประชาชนจะราบรื่นขึ้น...

ในองค์กรสามารถพูดคุยเข้าใจซึ่งกันและกันง่ายตามมาด้วย

“การรับเลือกบุคลากรทางการแพทย์อย่างอิสระให้กับแพทย์จบใหม่ มีการเปิดอัตราเข้าบรรจุตามความจำเป็นแต่ละพื้นที่ ด้วยการคัดสรรตามขั้นตอนสอบบรรจุ มองมุมกลับอาจจะมีผลดีทั้งตัวแพทย์ โรงพยาบาลและผู้ป่วยด้วยซ้ำ” พล.อ.ต.นพ.อิทธพร ว่า

แต่ขณะเดียวกัน...อาจมีผลเสียตามมาด้วยเช่นกัน แพทย์จบใหม่ส่วนหนึ่ง จะมุ่งเข้าทำงานในโรงพยาบาลเอกชน หรือเรียนต่อเลย หรือเกิดสถานการณ์สมองไหลออกนอกระบบ ในการเลือกสิ่งตรงใจตัวเอง แม้สามารถทำงานได้นานขึ้น แต่ปัญหาในพื้นที่ถิ่นทุรกันดารอาจไม่มีใครเลือกไปประจำเลยก็ได้

กลายเป็นว่า ตรงใจคนเลือก ตรงใจคนรับ และประชาชน แต่โรงพยาบาลภาครัฐบางแห่งอาจเกิดช่องโหว่ ไม่มีแพทย์ลงประจำ...

ทว่า...การไม่บรรจุแพทย์และทันตแพทย์ จะดีหรือไม่ดีนั้น ต้องขึ้นอยู่กับนักศึกษาแพทย์ว่า คิดอย่างไร หากมีความประสงค์ต้องการรับข้าราชการ อาจทำให้เสียโอกาสนี้ แต่สามารถสอบบรรจุแบบตรงได้เช่นเดิม

คำถามสำคัญมีว่า...ถ้าไม่มีการบรรจุอาจเกิดปัญหาแพทย์ขาดแคลนนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ตอบค่อนข้างยาก ในประเด็นแพทย์ขาดแคลนภาพรวม เพราะแพทย์ที่มีการกระจายตามในหัวเมืองหลัก มากกว่าในพื้นที่ชนบท ทำให้ขาดในพื้นที่ห่างไกลขณะที่ในเมืองมีจำนวนมากกว่ามาก

“กลายเป็นแพทย์ขาดแคลนบางพื้นที่ที่ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องให้ภาครัฐเข้าไปดำเนินการจัดการการกระจายใหม่ เพื่อนำแพทย์เข้าไปประจำยังจุดขาดแคลนจริงๆ”

...

ในฐานะแพทยสภาดูแลการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ได้มีการเตรียมบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากพอต่อความต้องการของโรงพยาบาลไว้ในอนาคตอยู่แล้ว แต่กระทรวงสาธารณสุขมีภารกิจต้องเป็นผู้บริหารจัดการอัตราให้ทั่วถึงตามความต้องการของโรงพยาบาล 800 กว่าแห่งอย่างเหมาะสม ซึ่งไม่ง่าย

โดยเฉพาะบุคลากรที่มีความต้องการมาก อาจขาดแคลนในอนาคต คือ กลุ่มแพทย์เฉพาะทาง หรือผู้เชี่ยวชาญระดับสูง ถ้าอิงตามที่เกิดขึ้นใหม่จากผู้สูงวัย เช่น อายุรแพทย์ และแพทย์ด้านสมอง หัวใจ โรคไต...

เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564

ดังนั้น ต้องสำรวจวิจัยตัวเลขว่าอนาคตจะขาดแคลนแพทย์สาขาใด เพื่อให้เกิดการผลิตแพทย์สาขานั้นให้เพียงพอต่อโรคใหม่ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับคนชรา หากมีแพทย์ในระบบภาครัฐมากเท่าไร...ยอมมีผลต่อการบริการที่ดีมากขึ้นตามมาเช่นกัน

“การบรรจุหรือไม่บรรจุแพทย์ วันนี้ยังไม่มีความชัดเจน ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง คณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ฯ ต้องหารือกันก่อน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และประเทศชาติในอนาคต”

และ...ไม่เชื่อว่าการ “ไม่บรรจุ” เลย คงเป็นไปไม่ได้ เพราะกำลังพลต้องมีการทดแทน ปัญหาคือ...“บรรจุ” แบบใดเท่านั้น.