สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งแฟนเพจได้นำเรื่องราวมาปรึกษาในเพจทนายเจมส์ lk เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้า โดยลูกค้าชำระหนี้ ด้วยการสั่งจ่ายเช็ค เมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารกลับปฏิเสธการจ่ายเงิน แม่ค้ารายนี้ไม่ได้นิ่งนอนใจรีบนำต้นฉบับเช็คและใบคืนเช็ค พร้อมทั้งหลักฐานการซื้อขายสินค้า ไปแจ้งความดำเนินคดีกับลูกค้าที่เป็นผู้ลงนามสั่งจ่ายเช็ค ด้วยหวังว่า คดีเช็ค ซึ่งเป็นคดีอาญามีโทษทั้งจำทั้งปรับ จะสามารถใช้บีบบังคับหรือใช้เป็นข้อต่อรองกับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าชำระหนี้ค่าสินค้าได้เร็วยิ่งขึ้น ได้เงินง่ายขึ้น
แต่ฝันกลับต้องสลายลงในพริบตา เมื่อพนักงานสอบสวนพลิกด้านหลังเช็คแล้วพบข้อความเขียนไว้ว่า "เช็คใช้ค้ำประกัน" ซึ่งการออกเช็คเพื่อค้ำประกัน จะไม่สามารถดำเนินคดีอาญาได้ เนื่องจากไม่ได้ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ อันเป็นองค์ประกอบความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค มาตรา 4
อย่างไรก็ตาม แม่ค้ารายนี้ยังคงสามารถใช้เช็คหรือหลักฐานการซื้อขายสินค้าฟ้องคดีแพ่ง เพื่อบังคับให้ชำระหนี้ได้ ตามกฎหมาย
...
ประเด็นที่น่าสนใจในคดีนี้ คือ มูลเหตุจูงใจที่ทำให้แม่ค้าออนไลน์นี้ “ตายใจ” จนยอมปล่อยสินค้าลอตใหญ่ให้กับลูกค้าไป โดยยอมถือเช็คไว้แทน เริ่มต้นลูกค้ารายนี้ จะเข้ามาตีสนิท และสั่งซื้อสินค้ามาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีอัธยาศัยดี ซื้อขายง่าย ชำระหนี้ตรงตามกำหนด จึงทำให้แม่ค้าเกิดความไว้วางใจ และลูกค้ายังอ้างว่า นำสินค้าส่งออกไปยังประเทศที่สาม ยิ่งสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแม่ค้าเป็นอย่างมาก จนกระทั่งลูกค้าสั่งสินค้าลอตใหญ่ โดยจะขอชำระค่าสินค้าด้วยเช็ค เนื่องจากจะต้องรอเรียกเก็บเงินจากลูกค้าต่างประเทศทอดหนึ่ง ซึ่งมีระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน ด้วยความดีใจที่ได้ขายสินค้าลอตใหญ่ กำไรเยอะ ประกอบกับเช็คลงวันที่เรียกเก็บเงินไม่นานนัก แม่ค้าจึงไม่ได้ระวังตัวว่ากำลังจะตกเป็น “เหยื่อ”
ต่อมาแม่ค้าสอบถามประวัติของลูกค้าคนดังกล่าวจากแม่ค้ารายอื่นจึงทราบว่า มีแม่ค้ารายอื่นก็โดนลูกค้าคนดังกล่าวสั่งจ่ายเช็คเด้งเหมือนกัน โดยมีพฤติการณ์เริ่มต้นและตบท้ายด้วยการสั่งจ่ายเช็คที่เขียนข้อความค้ำประกันเช่นเดียวกัน
มาถึง ณ จุดนี้ ผมเชื่อว่าน่าจะมีคำถามเกิดขึ้นในใจของผู้อ่านหลายท่านแล้วว่าพฤติการณ์แบบนี้เป็นการฉ้อโกงหรือไม่
พฤติการณ์ของลูกค้ารายนี้ปฏิบัติกับแม่ค้าเพียงแค่รายเดียว การกระทำดังกล่าวนั้น จะเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่ง ซึ่งจะต้องไปฟ้องในทางแพ่ง คือ ผิดสัญญาซื้อขาย เพื่อให้ลูกค้าชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายเท่านั้น ไม่เป็นความผิดทางอาญา
แต่หากลูกค้ารายนี้ปฏิบัติกับแม่ค้าหลายๆ รายในพฤติการณ์เดียวกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่า การซื้อขายในช่วงแรกๆ นั้น เป็นเพียงแค่การทำให้แม่ค้าตายใจ เพื่อจะหลอกเอาสินค้าลอตใหญ่ โดยออกเช็คค้ำประกัน ซึ่งไม่มีผลทางอาญา พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาที่อยู่ภายในใจลูกค้า รวมไปถึงแสดงให้เห็นเจตนาทุจริตที่จะหลอกเอาสินค้าจากแม่ค้าได้ ดังนั้น พฤติการณ์ลักษณะนี้จึงมีความผิดในข้อหาฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 343 แล้วแต่กรณี ในส่วนการดำเนินคดีนี้ ควรจะรวมตัวกันไปแจ้งความดำเนินคดีกับลูกค้า เพื่อแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ส่อเจตนาทุจริตของลูกค้ารายนี้
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ หรือ Facebook: ทนายเจมส์ LK