ดร.หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ รอง ผอ.สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ สทน. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันความนิยมในการบริโภคปลาร้าในรูปแบบต่างๆ มีค่อนข้างมาก ส่งผลให้การผลิตปลาร้าขยายตัวจากธุรกิจระดับครัวเรือนไปสู่การผลิตขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยมีปริมาณการผลิตสูงถึง 40,000 ตันต่อปี มีการบริโภคในประเทศรวมปีละกว่า 800 ล้านตัน และยังมีการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศอีกประมาณ 20 ล้านตัน โดยเฉพาะตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา และประเทศที่มีคนเอเชียอาศัยอยู่จำนวนมาก ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และกลุ่มตะวันออกกลางและยังมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้น
แต่เนื่องจากปลาร้าจัดเป็นปลาหมักดอง โดยการนำปลาสดๆมาหมัก หากล้างและทำความสะอาดปลาไม่ดีพอ หรือเก็บรักษาในภาชนะที่ไม่สะอาดและเก็บในสถานที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะหรือผู้ผลิตไม่รักษาสุขอนามัย ปลาร้าก็อาจเป็นตัวสะสมเชื้อโรคได้ เช่น สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส เอสเชอริเชีย โคไล คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ และซาลโมเนลลา ซึ่งเป็นสาเหตุของอาหารเป็นพิษ ทำให้ท้องร่วง อาเจียน และลำไส้อักเสบ ผู้บริโภคบางส่วนจึงขาดความมั่นใจในการนำไปบริโภค ต่างประเทศก็มักมองว่าปลาร้าเป็นอาหารที่มีความปลอดภัยต่ำ และถูกตรวจสอบการนำเข้าอย่างเข้มงวด
รอง ผอ.สทน.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ มีอาหารหมักดองอีกหลายชนิดที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน เช่น ปูเค็ม กะปิ ผลไม้ดอง
ดังนั้น สทน. โดยศูนย์ฉายรังสี จะให้บริการฉายรังสีในอาหารหมักดอง เช่น ปลาร้า ปลาเค็ม ปูเค็ม กะปิ และผลไม้ดอง เพราะการฉายรังสีเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรค พยาธิและแมลง ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มมูลค่าการตลาดในประเทศและการส่งออกได้ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งมีมาตรการชัดเจนที่อนุญาตให้นำเข้าเฉพาะอาหารและสมุนไพรซึ่งเชื่อว่าอาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรคหรือแมลง ต้องฉายรังสีอาหารเหล่านั้นก่อนจึงจะนำเข้าไปจัดจำหน่ายในประเทศได้ หากผู้ประกอบการรายใดมีความสนใจสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ฉายรังสี เทคโนธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โทร.0-2401-9889.
...