ในแวดวงราชการทั่วๆไปมีหัวข้อสนทนากันมากเรื่องการขยายอายุเกษียณออกไปเป็น 63 ปี มีการถามไถ่กันไปมาถึงการดำเนินการดังกล่าวของสำนักงาน ก.พ.
ผู้ที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดเห็นจะไม่พ้น นางเมธินี เทพมณี เลขาธิการ ก.พ. ซึ่งก็ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวอย่างกระจ่างแจ้งโดยขึ้นเป็นเรื่องสำคัญเรื่องแรกของ เว็บไซต์สำนักงาน ก.พ. แต่กระนั้นไม่วายที่ยังมีเพื่อนข้าราชการจากต่างจังหวัดสอบถามมาที่นี่ครั้งแล้วครั้งเล่า จึงขอดึงคำตอบเหล่านั้นมาเผยแพร่ที่ตรงนี้อีกทางหนึ่ง
เลขาธิการ ก.พ. ได้เน้นสาระสำคัญของเรื่องนี้ว่า สำนักงาน ก.พ.ได้ศึกษาแนวทางการขยายเกษียณจากราชการมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยกำหนดสาระสำคัญให้การขยายหรือปรับปรุงอายุเกษียณ และการขยายอายุราชการทํางานเป็นมาตรการเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ รวมถึงสนับสนุนให้บุคลากรภาครัฐทํางาน หรือมีอาชีพหลังเกษียณ และการบริหารกำลังคนภาครัฐในช่วงวัยต่างๆอย่างเหมาะสม
แนวทางการขยายอายุเกษียณนั้น คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม กำหนดให้สำนักงาน ก.พ.ศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี โดยใช้เวลา 6 ปี คือ 2 ปี ขยาย 1 ปี ซึ่งไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่ต้องใช้ศักยภาพทางร่างกาย ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายให้ข้าราชการ พนักงาน รัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกษียณอายุราชการที่ 63 ปี ในปี พ.ศ.2567
สำหรับวิธีดำเนินการ ขณะนี้สำนักงาน ก.พ.อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดทํารายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การศึกษาเพื่อกำหนดอายุที่ควรเกษียณจากราชการ (Retire from service) และอายุที่ควรเกษียณจากงาน (Retire from job) เพื่อนำไปสู่การจัดทําข้อเสนอต่อไป ทั้งนี้ ปัจจุบันตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบ 60 ปี บางตำแหน่งสามารถรับราชการต่อไปได้อีกไม่เกิน 10 ปี อยู่แล้ว ได้แก่ ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป และประเภททั่วไประดับอาวุโสขึ้นไป ในลักษณะงานจำนวน 8 สายงาน โดยให้ อ.ก.พ. กระทรวง เป็นผู้พิจารณาข้าราชการตามเหตุผลความจำเป็น
...
นอกจากนี้ ยังมีการตอบคำถามเป็นตัวอย่างเช่น
ถามว่า แนวทางการขยายอายุเกษียณที่มีการเผยแพร่ในโลกสังคมออนไลน์เป็นของจริงหรือไม่ คำตอบก็คือ สำนักงาน ก.พ.ไม่ได้จัดทําข้อมูลดังกล่าว เผยแพร่ในโลกสังคมออนไลน์ แต่อาจมีผู้นำประเด็นจากเวทีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสรุปข้อมูลและนำไปเผยแพร่ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดและแนวทางที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และอาจมีบางส่วนที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ดังนั้น จึงยังไม่ควรเผยแพร่ เพราะจะก่อให้เกิดความสับสน
สำนักงาน ก.พ.มีแนวคิดในการขยายอายุเกษียณอย่างไร และ ก.พ.มีมติเห็นชอบแนวทางที่สำนักงาน ก.พ.เสนอแล้วจริงหรือไม่ คำตอบคือ ผลการศึกษาระบุว่า การขยายอายุเกษียณควรสอดคล้องกับอายุขัยและศักยภาพในการทํางานที่เพิ่มขึ้นของประชากร และคำนึงถึงลักษณะงาน รวมทั้งต้องดำเนินมาตรการอื่นๆควบคู่ไปด้วย อาทิ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมในการทํางานหลังอายุ 60 ปี การพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐให้พร้อมรองรับการทํางานร่วมกันของคนหลากหลายช่วงวัย เป็นต้น ซึ่งเบื้องต้น ก.พ.ได้มีมติเห็นชอบแนวทางเบื้องต้นตามผลการศึกษาดังกล่าว และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นและหารือร่วมกับองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการประเภทต่างๆ รวมทั้งคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านที่เกี่ยวข้อง
ผลการรับฟังความคิดเห็นเป็นอย่างไร มีคำตอบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขยายอายุเกษียณให้สอดคล้องกับลักษณะงาน แต่ยังคงมีประเด็นที่ต้องศึกษาในรายละเอียดประกอบการพิจารณา อาทิ 1.งบประมาณค่าใช้จ่ายในการขยายอายุเกษียณ ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ได้ร่วมกับกรมบัญชีกลางในการศึกษาเรื่องนี้ 2.การจำแนกตำแหน่งตามลักษณะงานของข้าราชการพลเรือนสามัญ และข้าราชการประเภทต่างๆที่เกี่ยวข้อง และ 3.การศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับหากมีการขยายอายุเกษียณ
ถ้าเพียงแค่นี้ยังไม่อาจบรรเทาความสงสัย ต่อไปจะหยิบยกการดำเนินการมาให้ทราบอีก.
“ซี.12”