“กองสืบสวนนครบาลเตือนผู้ที่ต่อประกันรถยนต์ทางโทรศัพท์ให้ตรวจสอบสัญญา เพราะเคยจับกุมสาวแสบสวมรอยเป็นคอลเซ็นเตอร์ โทร.ไปหลอกเจ้าของรถต่อประกันมีผู้ตกเป็นเหยื่อหลายราย ผู้เสียหายรายหนึ่งต้องเสียถึงสองต่อ เพราะกว่าจะรู้ว่ากรมธรรม์ปลอมก็หลังรถเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้”

สืบเนื่องจากเมื่อกลางเดือน พ.ย.61 ชุดสืบสวนสอบสวนกองบังคับการสืบสวนสอบสวน (บก.สส.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) นำโดย พล.ต.ต.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย ผกก.สส.2 บก.สส.บช.น. จับกุมสาววัย 37 ปี ชาว จ.ฉะเชิงเทรา ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น

หลังจากก่อเหตุโทรศัพท์ไปหลอกผู้เสียหายต่อประกันภัยรถยนต์แล้วเชิดเงินหลบหนี

ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อได้รับความเดือดร้อนรายหลายแจ้งความไว้หลายท้องที่ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ต่างรวมตัวตั้งกลุ่มกันทางแอปพลิเคชันไลน์ช่วยกันตามล่าตัว

รวมทั้งรวบรวมเบาะแสคนร้าย ชื่อบัญชีธนาคารของผู้ที่รับโอนเงิน เพื่อป้อนข้อมูลให้ตำรวจอีกทาง จนชุดสืบสวนสามารถติดตามจับตัวสาวแสบรายนี้มาดำเนินคดีได้

ร.ต.อ.กิติพัฒน์ ใจอารีรอบ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. หนึ่งในชุดจับกุม เปิดเผยว่า พฤติการณ์สาวโกงเงินประกันรถยนต์ เริ่มต้นจะไปล้วงข้อมูล หรือซื้อข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ของบริษัทขายรถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง

รวบรวมรายละเอียดรถ อาทิ รุ่น สี ทะเบียน ทำประกันกับบริษัทอะไร ประกันจะหมดเมื่อใด เบอร์โทรศัพท์ติดต่อผู้ครอบครองรถ เบอร์โทรศัพท์ผู้ที่ทำไฟแนนซ์ ชื่อคนที่ผ่อนรถ หมายเลขตัวถัง หมายเลขเครื่องยนต์ เป็นต้น

จากนั้นดูรถที่ใกล้หมดประกันภัย คนร้ายก็จะโทร.ไปหาผู้เสียหาย

...

อ้างตัวว่าเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์จากบริษัทรถยนต์

พูดสายสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการแจ้งข้อมูลรถ บอกรายละเอียดอย่างถูกต้องว่า ซื้อรถมาจากศูนย์ใด ออกรถเมื่อไหร่ หว่านล้อมโดยใช้อุบายว่ามีโปรโมชัน แจกของสมนาคุณ หรือให้ของขวัญ ของกำนัล เพื่อจูงใจให้เจ้าของรถต่อประกันภัย

เหยื่อคิดว่าเป็นสิทธิประโยชน์จากการซื้อรถป้ายแดงจากบริษัทจึงหลงเชื่อ

จากการสอบถามเจ้าของรถบอกว่า สาเหตุที่หลงกล เพราะคนร้ายบอกข้อมูลเกี่ยวกับรถถูกต้องทุกอย่าง และออกเอกสารกรมธรรม์ส่งมาให้ มีใบประทับตราของบริษัทรถและลายเซ็นผู้เกี่ยวข้อง

โดยไม่ได้เอะใจว่าเป็นสัญญากรมธรรม์ปลอม

เบื้องต้นมีผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีไว้ 50 ราย

เหยื่อแต่ละคนทำประกันรถชั้นหนึ่งราคา 15,000 บาทขึ้นไป บางรายรถมีราคาแพงเสียค่าทำประกันถึงราคากว่า 40,000 บาท มูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 1 ล้านบาท

“ให้ประเมินค่าความเสียหายทั้งหมดคงลำบาก เพราะมีผู้เสียหายรายหนึ่ง รถเกิดอุบัติเหตุรถไฟไหม้ถึงรู้ว่าโดนหลอกให้ซื้อประกันภัย ไม่สามารถเรียกเงินคืนจากกรมธรรม์ได้ เสียทั้งเงิน สูญทั้งรถ บางคนรถชนก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายเองซ่อมทั้งรถตัวเองและคู่กรณี” สารวัตรกองสืบฯนครบาลกล่าว

ร.ต.อ.กิติพัฒน์ แฉถึงประวัติผู้ต้องหาว่า เคยทำเกี่ยวกับโบรกเกอร์รถยนต์ และบริษัทธุรกิจซื้อ-ขาย โจรสาวถึงรู้ช่องทาง
ขั้นตอนรายละเอียดและมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องทำประกันรถเป็นอย่างดี

ตรวจสอบพบมีหมายจับคดีฉ้อโกงติดตัว 21 หมาย และเคยถูกตำรวจกองปราบปรามและตำรวจนครบาลจับถึง 3 ครั้ง
หลังถูกจับก็ไม่วายออกจากคุกมาก่อเหตุอีก

ภัย! “ฮัลโหลต่อประกันรถ” เป็นเช่นนี้...หลังจากจับกุมผู้ต้องหาคดีโกงโทร.ต่อประกันรถ ทำให้คนตื่นตัวหันมาตรวจสอบว่ารถ
ได้ทำประกันให้จริงหรือไม่

ผู้ที่ทำประกันภัยรถยนต์ควรทำในสถานที่น่าเชื่อถือ เช่น ในห้างที่มีบูธของบริษัทโดยตรง ไม่ผ่านนายหน้าหรือเซลส์น่าจะดีกว่า อีกทั้งบริษัทประกันรถรายใหญ่ปัจจุบันสามารถตรวจสอบผ่านแอปฯ หรือเข้ายูสเซอร์ล็อกอินก็รู้แล้ว

รวมทั้งผู้ทำประกันต้องตรวจสอบบริษัทประกันภัยว่ากรมธรรม์เรียบร้อยสมบูรณ์แล้วหรือยัง โดยโทร.ไปที่บริษัทประกันภัย แจ้งชื่อและทะเบียนรถยนต์

ปกติไม่เกิน 2-3 วัน หลังจากทำสัญญาประกันภัยก็รู้ผลได้สิทธิ์คุ้มครองแล้ว

เพราะฉะนั้นทำประกันภัยเสร็จควรเช็กให้ชัวร์

ชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การซื้อประกันจากตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย

ทั้งช่องทางการเสนอขายทางโทรศัพท์หรือช่องทางอื่นๆ

ประชาชนที่ได้รับการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยควรตรวจสอบว่า ผู้เสนอขายประกันภัยเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่

ผู้ทำประกันควรสอบถาม ชื่อ-สกุล เลขที่ใบอนุญาตของตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย และตรวจสอบสถานะใบอนุญาตตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย

จากเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. www.oic.or.th  โดยค้นหาจากเมนู E-Service หรือตรวจสอบได้จากแอปพลิเคชัน “รอบรู้ประกันภัย” หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วนประกันภัย 1186

ทั้งนี้ เมื่อประชาชนตกลงทำสัญญาประกันภัยและมีการชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้กับตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยแล้ว ต้องเรียกใบเสร็จรับเงินเพื่อไว้เป็นหลักฐาน

หากประชาชนทำประกันกับตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาต และมีใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐาน

...

ถือว่าการทำประกันภัยนั้นถูกต้องสมบูรณ์แล้ว และบริษัทประกันภัยจะต้องออกกรมธรรม์ประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัย

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการขอคำปรึกษา หรือร้องเรียนการถูกเอารัดเอาเปรียบ

จากบริษัทประกันภัย สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ คปภ. ตั้งอยู่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทร.0-2515-3999 อีเมล info@oic.or.th 

อุทาหรณ์ทำประกันรถยนต์ ถ้ารู้ทันโจรก็ไม่ติดกับโจร!