มะม่วงผลใหญ่กำลังเข้าสู่ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต กรมวิชาการเกษตรเตือนชาวสวนมะม่วง ช่วงนี้อากาศร้อนและมีแดดจัด ให้สังเกตการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้

จะพบรอยช้ำใต้ผิวเปลือก อันเกิดจากแมลงวันผลไม้ตัวเมียใช้อวัยวะแทงเข้าไปวางไข่ในผลมะม่วง ตัวหนอนฟักจากไข่จะชอนไชอาศัยอยู่ภายในผล ทำให้ผลเน่าเสียและร่วงหล่นลงพื้น...เมื่อตัวหนอนโตขึ้นจะเจาะรูออกมาจากผลมะม่วง เข้าสู่ระยะดักแด้ในดิน และกลายเป็นแมลงวันผลไม้ตัวเต็มวัย

ส่วนผลที่หนอนเจาะเป็นรูจะมีน้ำไหลเยิ้ม ผลเละ เน่าเสีย และร่วงหล่น ผลที่ถูกทำลายมักมีโรคและแมลงชนิดอื่นๆเข้าทำลายซ้ำ...เกษตรกรควรหมั่นทำความสะอาดแปลงปลูกสม่ำเสมอ เก็บผลที่เน่าเสียออกจากแปลงและนำไปฝังกลบให้หน้าดินหนาอย่างน้อย 15 ซม.

จากนั้นให้ห่อผลด้วยถุงกระดาษสีน้ำตาล หรือถุงกระดาษภายในเคลือบด้วยกระดาษคาร์บอน ให้ห่อในระยะมะม่วงติดผลได้ประมาณ 60 วัน และใช้กับดักแขวนก้อนสำลีชุบ สารเมทิลยูจินอล ผสมสารฆ่าแมลง มาลาไทออน 83% อีซี ในอัตรา 4 : 1 นำไปแขวนไว้ในทรงพุ่มที่ระดับความสูง 1-1.5 ม. จำนวน 1 กับดักต่อพื้นที่ 1 ไร่ และหมั่นสังเกตปริมาณแมลงวันผลไม้ในกับดักทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นตัวชี้วัดปริมาณแมลงวันผลไม้ในแปลงปลูก

หากพบระบาดมากให้พ่นด้วย มาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดา–ไซฮาโลทริน 2.5% ซีเอส อัตรา 5 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน

และพ่นด้วยเหยื่อพิษที่ประกอบด้วย ยีสต์โปรตีน อัตรา 200 มิลลิลิตรผสมกับ มาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรในน้ำ 5 ลิตร โดยพ่นเป็นแถบ แถวละ 1 แถบ หรือถ้าพ่นแถวละ 2 แถบ ให้พ่นแถวเว้นแถว ขนาดกว้างแถบละ 30 เซนติเมตร ในเวลาเช้าตรู่ และควรเริ่มพ่นก่อนทำการเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 เดือน.

...

สะ–เล–เต