สถานการณ์ “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก” ยังปกคลุมทั่วพื้นที่ภาคเหนือ ชนวนของหมอกควันมลพิษสุมในหัวเมืองหลัก 9 จังหวัด มาจากการเผาเตรียมพื้นที่การเกษตร และเผาป่าธรรมชาติ แต่มีบางส่วนผสมโรงกระแสลมพัดหมอกควันไฟข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
เหตุสำคัญเรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดมาจาก “ฝีมือคน” มีทั้ง “ตั้งใจเผา และพลั้งเผลอ” ให้เกิดการลุกลามขยายพื้นที่เป็นวงกว้าง...
ตามที่เฟซบุ๊กเพจ “ศูนย์ข้อมูลหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” มีการรวบรวมข้อมูลปัญหาฝุ่นละอองที่คนไทยกำลังเผชิญ...ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาเก่าที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากไฟป่า การเผาพืชไร่ เผาขยะมูลฝอย เผาไหม้เชื้อเพลิง จากโรงงานอุตสาหกรรม ท่อไอเสียรถยนต์ และการก่อสร้าง
หากย้อนไปดูปัญหานี้ในอดีต ปี 2540–2541 เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังมาแรง ทำให้เกิดไฟป่าอย่างรุนแรงที่ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือน ต.ค.-พ.ย.2540 ส่งผลกระทบถึงภาคใต้ของประเทศไทยช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ย.2541 รวมถึงปัญหาหมอกควันจากไฟป่าพื้นที่ป่าพรุที่ภาคใต้ และในปี 2549-2550 หมอกควันและฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือรุนแรงหนักสูงกว่ามาตรฐาน 3-6 เท่า ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ ในช่วงเดือน มี.ค.2550
เช่นเดียวกับในปีนี้ที่กำลังเผชิญ “อากาศแปรปรวน” ผลพวงมาเข้าสู่โหมดปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ต้องเผชิญกับอากาศร้อนมาก แห้งแล้งหนักมาเร็วผิดปกติ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผลกระทบมลพิษทางอากาศเลวร้ายลง มีสาเหตุมาจาก “โลกร้อน” เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการขยายพื้นที่ไฟป่า รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต คณะทำงาน Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) บอกว่า...
...
ในปี 2561-2565 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น จากสภาวะก๊าซเรือนกระจก มีผลให้อุณหภูมิน้ำทะเลและอุณหภูมิพื้นดินมีความต่างกันเป็นสาเหตุให้เกิดอากาศแปรปรวน กลายเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา เกิดบ่อยแบบสลับความถี่มากขึ้นกว่าอดีต
และมีความเสี่ยงให้สภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง เช่น คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง และน้ำท่วม ปัจจุบันความแห้งแล้งทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าช่วง 30 ปีที่ผ่านมา 2 เท่า และ...หลายประเทศกำลังเผชิญความแปรปรวนสภาพภูมิอากาศ
รวมถึงประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบ ภาวะโลกร้อน...อากาศแปรปรวน จากการเข้าสู่โหมด “เอลนีโญ” ทำให้ปีนี้ “ฤดูร้อนมาเร็วกว่าปกติ และอากาศร้อนจัด แห้งแล้งมาก” ส่งผลในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ล้อมรอบด้วยป่า ภูเขาหลายจุด มีสภาพอากาศพื้นดินขาดความชุ่มชื้น... แต่ความแห้งแล้งหนักนั้นยังเป็นต้นเหตุเกิดไฟป่าได้ง่าย และสามารถขยายไฟป่าได้รวดเร็ว กระจายเป็นวงกว้าง ลุกลามเกิดปริมาณเขม่าควันสะสมเพิ่มมากขึ้น
สิ่งสำคัญ “อากาศแห้ง” มีผลอย่างมากให้อนุภาคของฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีน้ำหนักเบา ลอยอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะในพื้นที่แอ่งราบตามหุบเขาในภาคเหนือ ส่งผลกระทบต่อการเกิดสภาวะหมอกควัน และเกิดฟ้าหลัวในตอนกลางวันเต็มไปด้วยกลุ่มควัน มลพิษจากฝุ่นละออง
ที่ผ่านมาพื้นที่ภาคเหนือมักเกิดหมอกควันในฤดูหนาวก่อนเข้าสู่ฤดูร้อน เพราะเป็นช่วงสภาพอากาศนิ่ง และความกดอากาศสูง ทำให้ฝุ่นละเอียดขนาดเล็กไม่ถูกพัดพาขึ้นสู่บรรยากาศระดับสูงได้
แต่...จะวนเวียนอยู่ในระดับประชาชนอยู่อาศัย ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ที่ไม่ใช่เพียงอาการระคายเคืองจมูก แสบจมูก ไอ แต่ฝุ่นพิษนี้ทำให้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งปอดจากหมอกควันปะปนด้วยแก๊สพิษ และสารไฮโดรคาร์บอน...มีภัยต่อสุขภาพ และยังเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง รวมไปถึงโรคหัวใจขาดเลือดได้อีกเช่นเดียวกัน
ซ้ำร้าย...เมื่อปีนี้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ยิ่งทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองหนาแน่น และมีความรุนแรงยาวนาน 4–5 เดือน มากกว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อนที่มีปัญหาปีละ 2–3 เดือน
แม้ว่าช่วงนี้จะเข้า “ฤดูร้อน” มีสภาวะอากาศร้อนถึงร้อนจัด เป็นสาเหตุก่อให้เกิดพายุฤดูร้อน มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวช่วยให้ฝุ่นละออง “เจือจางลง”
เพราะ...กระแสลมช่วงนี้เป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือปะทะกับลมใต้ มีลมบางส่วนเปลี่ยนทิศทางลงสู่อ่าวไทย และบางส่วนพัดผ่านเข้าในพื้นที่ภาคเหนือ แต่กลับถูกภูเขากั้นไม่ให้กระแสลมเล็ดลอดผ่านไปได้...
กลายเป็นสภาพอากาศนิ่งไม่มีกระแสลม “ฝุ่นละออง” ก็ไม่สามารถเคลื่อนจากที่หนึ่ง...ไปอีกพื้นที่หนึ่ง และจะลอยขึ้นบนอากาศ...กระจายเป็นบริเวณวงกว้างหนักมากกว่าเดิม
“คง...ต้องรอเดือนพฤษภาคมนี้ กระแสลมจะเปลี่ยนเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ พัดผ่านมาจากทะเลอันดามันเข้าภาคเหนือโดยตรง ผ่านช่องทางด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านฤดู อาจต้องเจอกับปัญหาสภาพอากาศที่ไม่ปกติ แต่ก็ดีกว่าเจออากาศเป็นมลพิษแบบนี้” รศ.ดร.เสรี ว่า
แต่ประเด็นมีต่อว่า...คณะนักวิชาการ ไอพีซีซีทั่วโลกมีการวิเคราะห์ตัวสนับสนุนความรุนแรง “ฝุ่นละออง” เกิดขึ้นมาจากก๊าซเรือนกระจก 60% มีทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง ภาคครัวเรือน ปล่อยควันเสียออกมามาก กลายเป็น “ก๊าซเรือนกระจก” เป็นตัวเสริมให้เกิดการแปรปรวนภูมิอากาศ มีการสะสมฝุ่นละอองหนาแน่น
ยกตัวอย่าง...ประเทศอินเดียกับประเทศจีนกำลังเติบโตด้านเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม เร่งใช้น้ำมัน...ใช้ถ่านหิน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 75% จนเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 และอีก 25% เกิดจากเผาป่า
...
สรุปได้ว่า...ปัญหาฝุ่นละอองภาคเหนือ เกิดจากการเผชิญกับสภาวะโลกร้อน และปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้พื้นที่มีความร้อน...แห้งแล้งหนัก กลายเป็นตัวเชื่อมง่ายต่อการเผาไหม้ เกิดฝุ่นละอองรุนแรง ประกอบเจอกับสภาวะก๊าซเรือนกระจกเป็นตัวสร้าง “ม่านเรือนกระจก...คล้ายผ้าห่ม” ปกคลุมปิดกั้นชั้นบรรยากาศ ไม่ให้หมอกควันพิษกระจายได้สะดวก...“ทำให้คนภาคเหนือคงต้องเผชิญกับวิกฤติหมอกควันซ้ำซากต่อไปอีกยาวนาน”
ขณะที่นักวิจัยอีกท่านชี้ว่า PM 2.5 ส่งผลให้โลกร้อนมากขึ้น กระทบกันเป็นลูกโซ่ ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่ บอกว่า...
ประเทศไทยมีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งร้อนหนัก หรือฝนแล้งสุดๆ แต่บางแห่งมีฝนตกมากเป็นพิเศษ รวมถึงเกิดพายุรุนแรง ที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ผลพวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรม เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา
โลกร้อนทำให้ใบไม้แห้ง มีโอกาสเกิดการเผาไหม้มากขึ้น และการเผาไหม้ทำให้เกิดสารสู่ชั้นบรรยากาศที่จะดูดซับให้เกิดโลกร้อนมากขึ้น เป็นตัวเสริมซึ่งกันและกัน เมื่ออากาศร้อน และเปิดแอร์มากขึ้น ก็ปล่อยความร้อนสู่บรรยากาศมากขึ้น พืชแห้งแล้งมากขึ้น บวกกับอากาศแห้งมากๆ จึงเกิดไฟป่า เป็นผลกระทบลูกโซ่
ในช่วงนี้ภาคเหนือกำลังประสบปัญหาอากาศแปรปรวน เมื่อร้อนก็ร้อนสุดๆ เมื่อหนาวก็หนาวสูงสุด มีโอกาสเกิดไฟไหม้ป่า จะเป็นตัวกระตุ้นส่งเสริมซึ่งกันและกันให้เกิดฝุ่นละอองสะสมเพิ่มขึ้น
ตอนนี้ได้จับมือกับ 3 มหาวิทยาลัยในประเทศจีน เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีที่ถูกปลดปล่อยจากการเผา มีผลกระทบต่อสุขภาพเข้าสู่ร่างกายในเชิงลึก และศึกษาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยแบบจำลองข้อมูลปฐมภูมิจากสารเคมีในฝุ่น และผลกระทบเชิงสุขภาพ
...
“ฝุ่นละออง” ไม่ใช่เรื่องใหม่...แต่เป็นปัญหาหมักหมมเก่าที่ไม่ถูกแก้
สาเหตุหลักๆ คงหนีไม่พ้นจาก “ไฟป่า”...“เผา” พืชเกษตร รวมถึงการเผาเชื้อเพลิงจากโรงงานอุตสาหกรรม คนไทยจึงต้องเผชิญกับวิกฤติ! หมอกควันซ้ำซาก.