เว็บไซต์ราชกิจจาฯ ประกาศ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ให้สิทธิลูกจ้างเพียบ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีผลอีก 30 วัน
เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ระบุ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อยกระดับการคุ้มครองลูกจ้างให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อันจะทำให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความมั่นคงในการทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจะเป็นประโยชน์แก่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไข ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา
โดยมีสาระสำคัญดังนี้ กรณีนายจ้างไม่คืนหลักประกันเป็นเงิน ไม่จ่ายเงินกรณีเลิกสัญญาจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้า หรือไม่จ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด หรือจ่ายชดเชยกรณีหยุดกิจการ ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างระหว่างเวลาผิดนัด ร้อยละ 15 ต่อปี
กรณีเปลี่ยนตัวนายจ้าง เปลี่ยนนิติบุคคล การไปเป็นลูกจ้างของนายใหม่ ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง และสิทธิต่างๆ ที่ลูกจ้างมีอยู่ต่อนายจ้างเดิม คงมีสิทธิต่อไป
...
ลูกจ้างมีสิทธิลากิจได้ค่าจ้าง 3 วันทำงานต่อปี, ลาคลอดได้ ไม่เกิน 98 วัน และวันลาเพื่อคลอดบุตร ให้รวมวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้ไม่เกิน 45 วัน
นายจ้างต้องกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ให้แก่ลูกจ้างที่มีลักษณะ คุณภาพ และปริมาณงานเท่ากัน ไม่ว่าลูกจ้างนั้นจะเป็นชายหรือหญิง
นอกจากนี้ ในกรณีนายจ้างหยุดกิจการทั้งหมด หรือบางส่วน ให้จ่ายชดเชยไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงาน โดยลูกจ้างที่ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน, 20 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน
และหากนายจ้างต้องย้ายสถานที่ประกอบการ ต้องติดประกาศให้ลูกจ้างทราบอย่างน้อย 30 วัน ก่อนย้ายสถานประกอบการ หากไม่ปิดประกาศ ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้ลูกจ้าง แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เท่ากับค่าจ้าง 30 วัน แต่หากลูกจ้างเห็นประกาศ และไม่ประสงค์ย้ายไปทำงานที่ใหม่กับนายจ้าง ต้องแจ้งให้นายจ้างทราบเป็นหนังสือ ภายใน 30 วัน โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษ ไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ
โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และไม่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินการเพื่อให้ความคุ้มครองลูกจ้าง สมควรแก้ไขเพิ่มเติม
โดยกำหนดให้การเปลี่ยนแปลง ตัวนายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทำงาน กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์สามารถลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรได้โดยให้ถือเป็นวันลาเพื่อคลอดบุตร
เพิ่มอัตราค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบยี่สิบปีขึ้นไป กำหนดให้ การย้ายสถานประกอบกิจการ ให้รวมทั้งการย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่ หรือสถานที่อื่น ของนายจ้าง และแก้ไขให้นายจ้างกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ในอัตราเท่ากันทั้งลูกจ้างชายและหญิง ในงานที่มีค่าเท่าเทียมกัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
(อ่านฉบับเต็ม ที่นี่)