“ถ้ำ...ไม่ใช่แค่รูในภูเขา แต่เป็นที่อยู่ที่มั่นคงแห่งแรกของมนุษย์ เป็นบ้านหลังแรก ในยุคแรกๆก็อยู่กันตามถ้ำอาจจะโพรงเล็ก...โพรงใหญ่ ที่สำคัญบริเวณที่เป็นหินปูนจะเป็นหุบเขาหลุมยุบที่เกิดขึ้นได้จากธรรมชาติ...

สมมติว่ามีถ้ำอยู่ตรงกลางพอพัฒนานานๆหลังคาถ้ำพังก็กลายเป็นที่ราบ ด้านข้างก็เป็นหน้าผาสูง พบว่าตามหน้าผาสูงๆจะมีรูอยู่ รูเหล่านี้มักจะพบหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย”

อาจารย์ชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องถ้ำและนักธรณีวิทยาแถวหน้าเมืองไทย บอกอีกว่า อีกอย่างที่สำคัญ...พื้นที่หินปูน ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างดีเยี่ยม โดยกลไกวัฏจักรของคาร์บอน เวลาฝนตกมาจะละลายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ พอเจอหินปูนก็ละลายเปลี่ยนสภาพจากก๊าซเป็นของเหลวเก็บไว้ในตัวถ้ำมากมาย

“การให้ประชาชนในพื้นที่รับรู้ ช่วยกันดูแลผืนป่า หรือเพิ่มป่าก็จะมีส่วนช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สามารถเพิ่มน้ำในระบบถ้ำได้ขึ้นมาอีกมาก”

อาจารย์ชัยพร ย้ำว่า ในสภาพที่โลกไม่เคยนิ่งดันตัว ยกทำให้หินปูน เป็นภูเขาขึ้นมาเรื่อยๆ...ด้วยคุณสมบัติเด่นคือละลายน้ำ เวลาที่ฝนตกลงมาจะเปลี่ยนจากน้ำฝนธรรมดาเป็นกรดอ่อนๆแล้วมาที่พื้นก็จะละลายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านช่องว่างรอยแตก

“แรกๆอาจจะมีน้ำเต็ม พอนานวันเข้าระดับน้ำลดลงก็กลายเป็นถ้ำแห้ง เขาขุนน้ำนางนอนมีถ้ำหลายชั้นมาก ข้างบนสูงเกือบๆ 1,000 เมตรที่เคยเข้าไปสำรวจพบว่าเป็นถ้ำที่เคยอยู่ใต้น้ำมาก่อนก็มี ฉะนั้นวันเวลาผ่านไปก็พัฒนาปรับสภาพ ส่วนที่อ่อนแอก็พังเหลือแต่ส่วนที่อยู่”

เหมือนกับว่าเรามีก้อนอะไรสักก้อนที่มีรูพรุน เวลาที่โลกยกตัวจะมีการโค้งงอ แล้วก็จะเกิดรอยแตกตามแนวเหนือ...ใต้ รอยแตกเป็นตัวชักพานำน้ำให้เข้าสู่ระบบหินปูนได้เร็วก็จะเกิดโพรงของถ้ำได้มากมาย

...

เวลาน้ำเข้า...ถ้ำข้างบนมีอยู่ 3 ระบบ หนึ่ง...ถ้ำแห้งอยู่ด้านบนสุด ถัดมา...ถ้ำน้ำทั้งถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนแล้วก็ถ้ำทรายทอง ซึ่งก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีน้ำตลอดทั้งปี แล้วถ้ำที่อยู่ต่ำสุดก็คือถ้ำที่เป็นแหล่งน้ำบาดาล

เวลาฝนตกลงมาก็จะเติมเข้ามาทั้งระบบเหมือนตัวกรองน้ำ ใช้เวลานานพอสมควร ถ้ำทรายทองเป็นปลายติ่งจากประสบการณ์น่าจะเป็นส่วนที่เชื่อมไปยังถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน มีช่องว่างห่างกันอยู่แค่ 50 เมตร

โดยทางน้ำเชื่อมกันอยู่แล้วแต่พยายามหาทางเชื่อมที่คนสามารถเดินมุดเข้าหากันได้อย่างไรเท่านั้นเอง

คำจำกัดความของ “ถ้ำ” ก็คือ...โพรงที่เกิดธรรมชาติที่คนมุดเข้าไปได้ ถ้าคนมุดยังไม่ได้ก็ไม่ถือว่าเป็นถ้ำ วันนี้ที่เราไปสำรวจทำผังถ้ำ ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่าในการจัดการถ้ำที่ดี มีประโยชน์แน่นอน เนื่องจากปัจจุบันถ้ำหลายๆแห่งเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามากขึ้นทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

แน่นอนว่า...มีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายต่อหินงอกหินย้อยภายในตัวถ้ำ รวมทั้งอาจจะเกิดอันตรายเหมือนอย่างกรณี 13 หมูป่าที่ติดถ้ำ ทางที่ดีที่สุดก็คือการจัดการสำรวจทำผังถ้ำ ด้วยเครื่องมืออุปกรณ์สมัยใหม่ทำให้เกิดการผิดพลาดน้อยมากๆทั้งทิศทางและระยะสำรวจ

นักท่องเที่ยวที่คิดจะมาเที่ยวถ้ำ สำคัญที่สุด...ควรที่จะต้องหาความรู้เรื่องถ้ำ การเข้าไปเที่ยวควรจะเป็นอย่างไร เชื่อฟังไกด์ที่มาตรฐาน เดินตามเส้นทาง ไม่ทิ้งขยะในถ้ำ การแต่งกายต้องเหมาะสมรัดกุม ไม่ทิ้งอะไรไว้ยกเว้นรอยเท้า แต่ในบางพื้นที่บางโซนบอบบางมาก ก็ไม่ควรไปเดิน ไปทิ้งรอยเท้าหรือสัมผัส หยิบจับ

หรือบางถ้ำ คนไม่น้อยพกธูปเทียนไปกราบไหว้บูชา ให้ทำความเข้าใจด้วยว่า สิ่งที่มีควันทั้งหลายทำให้เพดานถ้ำดำหมด แล้วก็ทำให้ไม่เกิด... ไม่งอก หินงอกหินย้อยอีกต่อไปเลย

“ถ้ำ”...ค่อนข้างมีวิวัฒนาการมานานมาก ปากถ้ำที่จะเข้าไปสำรวจนั้นจะหุบลงไปเหมือนเป็นหลุมแล้วก็ค่อยๆเดินได้ ภายใต้พื้นถ้ำมีกองหินถล่มมากมาย เกิดยังไง...ก็จากที่พังทลายจากเพดานถ้ำ ผนังถ้ำ ถ้าศึกษาละเอียดสามารถโยงถึงการเกิดแผ่นดินไหวในอดีตได้

โดยเฉพาะเวลาหินถล่ม แล้วเกิดหินงอก เราสามารถเอาหินงอกมาหาอายุได้ก็จะรู้ว่า “แผ่นดินไหว” ในอดีตเกิดยังไง รวมทั้งสามารถที่จะศึกษาว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยก่อนย้อนหลังไปหลายแสนปีจนกระทั่งปัจจุบันเป็นอย่างไร จะถูกบันทึกไว้ในถ้ำ...ด้วยความที่ถ้ำเป็นนักบันทึกชั้นยอด

เมื่อครั้งกรมทรัพยากรธรณีนำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานด้านธรณีภัยพิบัติ “รอยเลื่อนมีพลัง” จังหวัดเชียงราย นิวัติ มณีขัติย์ รองอธิบดี กรมทรัพยากรธรณี บอกว่า กลุ่มรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 15 กลุ่มรอยเลื่อน ประกอบด้วย...รอยเลื่อนแม่จัน, รอยเลื่อนแม่อิง, รอยเลื่อนปัว, รอยเลื่อนแม่ลาว, รอยเลื่อนพะเยา

รอยเลื่อนเถิน, รอยเลื่อนอุตรดิตถ์, รอยเลื่อนเพชรบูรณ์, รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน, รอยเลื่อนแม่ทา, รอยเลื่อนเมย, รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์, รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์, รอยเลื่อนระนอง, รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย

น่าสนใจว่า...“รอยเลื่อนแม่จัน” นั้น เฉพาะในไทยมีความยาวกว่า 150 กิโลเมตร พาดผ่านอำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

ยังเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังอยู่ การเคลื่อนตัวครั้งล่าสุดเมื่อ 1,500 ปีที่แล้ว เคยเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในพื้นที่เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2550 ขนาด 6.3 ศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหวอยู่ใน สปป.ลาว

แผ่นดินไหวครั้งนี้ยังมีอาฟเตอร์ช็อกขนาดตั้งแต่ 2.5-5.4 ริกเตอร์ จำนวน 88 ครั้ง...เกิดขึ้นจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2550 สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาลในอำเภอเมือง เชียงของ เชียงแสน แม่จัน แม่สาย เถิง ดอยหลวง จ.เชียงราย และ...ผู้คนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและ กทม.รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนนี้

...

สำหรับ โครงการศึกษาสำรวจธรณีวิทยาและอุทกธรณีวิทยาเทือกเขาหินปูน วนอุทยานถ้ำหลวง–ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ขนาดพื้นที่ 240 ตารางกิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี วัตถุประสงค์สำคัญเพื่อศึกษาสำรวจธรณีวิทยา จัดทำแผนผังถ้ำขั้นรายละเอียดและแบบจำลองทางกายภาพ

ถัดมา...เพื่อศึกษาสำรวจอุทกธรณีวิทยา ทราบถึงพื้นที่รับน้ำ ระบบการไหลของน้ำบาดาล น้ำพุ น้ำซับ และธารน้ำใต้ดิน ศึกษาความต่อเนื่องและความสัมพันธ์ของชั้นน้ำหินปูน ชั้นน้ำอื่นๆที่มีศักยภาพในการพัฒนาน้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ต่อไป รวมถึงประเมินศักยภาพน้ำบาดาลขั้นรายละเอียดเชิงปริมาณและคุณภาพ

อาจารย์ชัยพร บอกอีกว่า หลายๆอย่างในถ้ำมีลักษณะพิเศษ อย่างกรณีของถ้ำทรายทอง ระยะทางยาวราว 1.1-1.2 กิโลเมตร ทิศทางจากปากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ถ้ำทรายทองอยู่ห่าง 50 เมตร จะเห็นว่ามีเส้นทางที่ค่อนข้างตรง การที่จะเกิดโถงถ้ำตรงๆเกิดจากเวลาที่เปลือกโลกเคลื่อนไหวมีรอยแตกในแนวใดแนวหนึ่ง

กรณีอย่างนี้ก็ค่อนข้างอยู่ในแนวนี้ “น้ำ” สามารถละลายได้ง่ายกลายเป็น “โถง” ได้

...

ด้านในเนื่องจากเป็นที่ต่ำ ทุกๆหน้าฝนก็จะมีน้ำมา การสำรวจเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เองเราพบว่าน้ำปัจจุบันท่วม 5-6 เมตร แต่ก็พบอีกว่าพื้นถ้ำหลายส่วนมีพื้นถ้ำโบราณอยู่สูงกว่าพื้นถ้ำปัจจุบัน คำถามมีว่า...เกิดได้อย่างไร?

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ก็เป็นข้อควรศึกษาของถ้ำได้มาก นอกจากนี้ถ้ำเหล่านี้มีโพรงถ้ำเกิดอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นโพรงพอเก่าขึ้นก็ทำให้พื้นถ้ำทรุดตัว พอทรุดเสาหินก็แยกออกจากกันเหมือนเสาบ้านที่ติดกับพื้นพอมีใครไปขุดใต้บ้านพื้นก็จะทรุดเกิดแรงดึงจนกระทั่งแยก นี่คือหลักฐานอย่างดีของวิวัฒนาการการเกิดถ้ำ

โครงการที่จะทำนอกจากสำรวจถ้ำต่างๆแล้วเราจะใช้วิธีการทางธรณีฟิสิกส์ ตั้งแต่โถงปากถ้ำหลวง ทำขนานทั้งแนวภูเขาจะได้มั่นใจว่ามีทางเชื่อม มีโพรงจริงหรือเปล่า

“ถ้ำ” เป็นอีกความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่สร้างสรรค์ผ่านวันเวลาที่ผันเปลี่ยน เมื่อมนุษย์ต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจและรู้จักธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้.