กุ้งไทยได้รับการยอมรับในระดับโลก คุณภาพดี ทำเงินเข้าประเทศปีละนับหมื่นล้านบาท แต่หลายคนสงสัย เหตุไฉนจึงประสบปัญหาราคาตกต่ำเป็นประจำ โดยเฉพาะยามนี้

การวิเคราะห์จากเกจิวงการกุ้ง เกษตรกรผู้คร่ำหวอด สรุปได้ว่า ปัจจัยภายใน...ห้องเย็นไม่กล้ารับออเดอร์ เพราะผลผลิตในประเทศบางส่วนเสียหายไปกับพายุปาบึก ประกอบกับการเมืองในประเทศยังไม่นิ่ง

ขณะที่กุ้งไทยวันนี้ต้นทุนยังสูง สาเหตุหลักค่าไฟ ค่าอาหารรวมกันสูงถึง 70% ของต้นทุนทั้งหมด ทำให้ต้องขายแพงกว่าทุกประเทศ

ปัจจัยภายนอก... บริษัทด้านอาหารรายใหญ่ของญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนร่วมกับห้องเย็นและการแปรรูปรายใหญ่ของเวียดนามและอินโดนีเซีย ถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปกุ้งพร้อมรับประทานสไตล์ญี่ปุ่น

ทำให้สองประเทศนี้ได้ตลาดจากญี่ปุ่นโดยตรงเพิ่มขึ้น และขยายตลาดสินค้าพร้อมทานสไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งมีมูลค่าตลาดสูงมาก ทำให้เราสูญเสียตลาดนี้ไปส่วนหนึ่ง

ตลาดหลักของไทยคือ สหรัฐอเมริกา ปริมาณกุ้งส่งออกทั้งปี 2561 หดตัวถึง 33% ปริมาณรวมแค่ 49,700 ตัน คาดว่าไตรมาสแรกปีนี้ยังคงหดตัวต่อเนื่องไปอีกจากค่าเงินบาทแข็ง และต้นทุนแปรรูปยังสูงอยู่

ตะวันออกกลางเริ่มลงทุนเลี้ยงกุ้งมากขึ้น เพราะมีตลาดจีนรองรับและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ

แม้ดูเหมือนจะมีแต่ปัจจัยลบเต็มไปหมด แต่เราก็มีจุดแข็งที่คุณภาพ ฐานลูกค้าเก่าที่เชื่อมั่น ฉะนั้น ถ้าทำกุ้งเกรดพรีเมียม ไม่ไปสู้กับตลาดล่าง น่าจะพอเอาตัวรอดไปได้

ในยามกุ้งอินเดีย (ราคาถูกที่สุด) ถูกแคนาดาตรวจพบสารตกค้างกุ้งจีนพบโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศอื่น...เหตุใดเราถึงไม่ใช้โอกาสนี้ดึงตลาดเข้ามา พร้อมกับเล็งไปที่ตลาดกุ้งพรีเมียมอย่างญี่ปุ่น ที่ต้องการกุ้งจำนวนมาก เพื่อรองรับกีฬาโอลิมปิก โตเกียว ปี 2020

...

ส่วนเกษตรกรจะหยุดเลี้ยงกุ้งยังต้องเลี้ยงลูกน้อง ทางทุเลาปัญหา...ทำให้ต้นทุนต่ำลง ปรับกลยุทธ์การเลี้ยง เช่น ปล่อยกุ้งบาง ใช้ปัจจัยการผลิตอย่างประหยัดและรู้เท่าทัน วางระบบบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ.

สะ–เล–เต