ปลาแซลมอนดัดแปลงพันธุกรรม ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี 2532 ด้วยการนำยีนผลิตฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโตจาก Pacific Chinook salmon แซลมอนมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีขนาดใหญ่สุดและโตเร็วในบรรดาแซลมอนด้วยกัน มาผสมกับยีนตั้งต้นจากปลาไหลทะเล (ocean pout)

ทำให้ปลากินอาหารได้มากขึ้น เจริญเติบโตเร็วกว่าปกติถึงหนึ่งเท่าตัว

จากปกติต้องใช้เวลาเลี้ยงนาน 32-36 เดือน...ย่นระยะเวลาเลี้ยงเหลือแค่ 16-18 เดือน

ช่วยประหยัดต้นทุน ทั้งค่าอาหาร ค่าบริหารจัดการ ทุ่นระยะเวลา

แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ยังมิให้นำปลาแซลมอนชนิดนี้เข้ามาในประเทศ...26 ปีผ่านไป จนปี 2558 การวิจัยพบว่า ปลาแซลมอนดัดแปลงพันธุกรรมปลอดภัยต่อการบริโภคไม่ต่างจากแซลมอนทั่วไป

กลางปีที่แล้วจึงมีการอนุญาตให้เพาะเลี้ยงได้ในรัฐอินเดียนา ในระบบถังบนบกในอาคารปลอดภัย ที่มีหลายมาตรการควบคุมความปลอดภัยทางกายภาพ ป้องกันปลาหลุดรอดออกไปสู่ธรรมชาติ

มีการคาดกันว่า ปลาแซลมอนจีเอ็มโอจะถูกนำออกมาจำหน่ายผู้คนทั่วไปได้ลิ้มชิมรสประมาณต้นปี 2563

เทคโนโลยีโลกก้าวไกลไปสุดล้ำ แต่คนไทยยังมาเถียงกันไม่เลิก... เป็นอันเชื่อขนมกินได้ เมื่อออกมาวางขายในอเมริกา อีกไม่นานไทยจะเป็นลูกค้าอันดับแรกๆ ด้วยเหตุผลประการเดียว “ราคาถูกกว่า” เหมือนพืชจีเอ็มโอจากแดนไกล ที่คนไทยกินนักต่อนักมาเป็นสิบๆปี แต่ก็ยังมีคนมาหลอกให้เรากลัวกันอยู่ได้ แถมยังมีคนหลงเชื่อตามซะอีก.