เผาอ้อย สร้างปัญหาฝุ่นควันพิษ ภาครัฐคิดแก้ปัญหาด้วยการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไปซื้อรถตัดอ้อย...วิธีการนี้จะช่วยได้แค่ไหน หรือจะล้มเหลวไม่เป็นท่า
เวทีเสวนาหัวข้อ เผาอ้อย...ทางเลือก...ทางรอด...? จากผลงานวิจัยที่ลงไปสำรวจในพื้นที่ปลูกและเผาอ้อย จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีคำตอบจากการออกสำรวจข้อมูลเกษตรกรในพื้นที่ปลูกและตัดอ้อย นำมาเปรียบเทียบความจริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ผศ.ดร.ธนาภรณ์ อธิปัญญากุล ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มก. ให้ข้อมูล...วันนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ควรจะเพิ่มรถตัดอ้อย
ข้อดีของการใช้รถตัดอ้อย หมดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ค่า น้ำตาลในอ้อยสูงขึ้น มลพิษไม่เกิดขึ้น ลดค่าใช้จ่ายใส่ปุ๋ยบำรุงดิน และสะดวกรวดเร็ว
แต่ข้อเสียเกษตรกรที่จะซื้อรถตัดอ้อย มีความพร้อมแค่ไหน...การใช้รถตัดอ้อยให้ประสบความสำเร็จ แปลงปลูกต้องเป็นพื้นที่ราบ ไม่มีโขดหิน แต่ละแปลงควรมีความยาว 200 เมตรขึ้นไป เนื้อที่ไม่น้อยกว่า 15 ไร่ และระยะห่างระหว่างร่องอ้อยไม่น้อยกว่า 1.5-1.6 เมตร
คนขับรถตัดอ้อยกับคนขับรถกล่องรับอ้อยต้องฝึกให้เกิดความชำนาญ รวมทั้งต้องรู้วิธีการซ่อมแซม และแก้ปัญหารถตัดอ้อย เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
ท้ายสุดเงินทุนซื้อรถตัดอ้อย รถใหม่ผลิตในประเทศขนาด 200-250 แรงม้า ราคา 6 ล้านขึ้นไป ขนาด 300-350 แรงม้า ราคา 8 ล้านขึ้นไป ส่วนรถตัดอ้อยที่นำเข้าจากต่างประเทศมีเฉพาะ 300-350 แรงม้า ราคา 11 ล้านขึ้นไป ส่วนมือสอง 6.9 ล้านบาทขึ้นไป
เกษตรกรที่ลงเงินทุนซื้อรถตัดอ้อยผลิตในประเทศมาใช้ 6 ปี พบว่า ได้ผลตอบแทนยังไม่คุ้มต้นทุน ยิ่งเป็นรถนำเข้าจากต่างประเทศจะต้องเป็นหนี้ไปอีกอย่างน้อย 11 ปี
ตัวเลขนี้เป็นการซื้อรถตัดอ้อยมาใช้ตัดอ้อยของตัวเอง และรับจ้างตัดให้คนอื่นด้วย ยังไม่คุ้มทุน ถ้าซื้อมาแล้วจอดเฉยๆ พังแล้วซ่อมไม่ได้ อะไหล่ไม่มี หนี้สินจะไม่เพิ่มพูนหรืออย่างไร.
...
สะ–เล–เต