และแล้วงานของ ป.ป.ช.ก็ล้นมือ จนทำไม่ไหวจริงๆ?

ไม่ต้องให้กูรูที่ไหนมาสาธยายก็เดาออก เพราะตั้งแต่ตั้งองค์กรมา คดีที่ถูกระบุว่า ต้องเข้าสู่การพิจารณาของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มันครอบคลุมไปหมด

ตั้งแต่คดีตำรวจจราจรไถเงินหลักร้อย ไปถึงข้าราชการหรือนักการเมืองโกงหลักล้าน!

เมื่อดูความสำคัญและเร่งด่วนของเรื่องคดีสัพเพเหระต้องถูกจัดลำดับความสำคัญไปอยู่ท้ายๆเป็นเรื่องธรรมดา บางครั้งผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นข้าราชการนอนตีพุงรับราชการจนเติบโตได้ดิบได้ดีไปถึงไหนแล้ว ยังไม่ถูกดำเนินคดี

ทำให้กระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว ป.ป.ช.ในหมู่ข้าราชการ เหมือนเป็นตัวช่วยชะลอการเอาผิด?

พอดินพอกหางหมูมากขึ้น แก้ปัญหาไม่ได้ ถึงเริ่มคิดผ่องถ่ายสำนวนที่ค้างอยู่เกือบ 2 หมื่นคดี!

ประชุมทำข้อตกลงกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้พนักงานสอบสวนตำรวจทั่วประเทศ ช่วยรับคดีไม่ซับซ้อนที่ถูกแช่แข็งอยู่ใน ป.ป.ช.ประมาณ 15,000 คดีไปดำเนินการ

เป้าหมายเพื่อให้คดีถูกระบายออกไปภายใน 2 ปี ไม่เกิน 3 ปี!

แต่มีข้อแม้กันครหา เพราะคดีที่ดำเนินการอยู่ใน ป.ป.ช.ขณะนี้ ต้องยอมรับว่า ถ้าเป็นคดีเกี่ยวกับข้าราชการทุจริต ประพฤติมิชอบ ตำรวจถูกกล่าวหานำโด่งเหนือหน่วยงานอื่น?!

ป.ป.ช.เลยทำข้อตกลงดักคอไว้ว่า ถ้าสำนวนไหนสั่งฟ้อง ให้ตำรวจส่งสำนวนให้อัยการได้เลย แต่ถ้าจะสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ต้องส่งสำนวนกลับมาให้ ป.ป.ช.เห็นชอบด้วย...

และงานนี้ตำรวจไม่ได้ช่วยเปล่าๆปลี้ๆนะครับ เรียกค่าทำสำนวนคดีเล็ก 3,000 บาท คดีขนาดกลาง 6,000 บาท และคดีขนาดใหญ่ 8,000 บาท!

ไม่รู้ว่า ป.ป.ช.เอางบส่วนไหนมาจ่าย?

ต่อไปน่าจะออกระเบียบให้ ป.ป.ช.รับมาเฉพาะคดีใหญ่ คดีสำคัญ คดีจะได้ไม่ค้างจนถูกกระแนะกระแหนว่าเลือกปฏิบัติ
ชื่อ ป.ป.ช.จะได้ขลัง น่าเกรงขามกว่านี้อีกเยอะ?

...

"สหบาท"