นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงการติดตามและประเมินผลโครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัด...เกษตรกรส่วนใหญ่เห็นว่าช่วยลดต้นทุนได้จริง ได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพ และมีความรู้เรื่องการใช้ปุ๋ยผสมเอง
แต่เป็นแค่เพียงการติดตามประเมินผลในเบื้องต้นเท่านั้น
นับแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร ตั้งแต่ พ.ค.2561-30 เม.ย.2563 เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดินของแต่ละพื้นที่
มีเป้าหมายสถาบันเกษตรกร 500 แห่ง วงเงินกู้ 3,600 ล้านบาท สำหรับเป็นทุนหมุนเวียนให้สถาบันเกษตรกรนำไปใช้ในการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดจำหน่ายให้กับเกษตรกร
ปรากฏว่ามีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 202 แห่ง (40.4% ของเป้าหมาย) มีสถาบันเกษตรกรขอรับสนับสนุนเงินกู้ 5 แห่ง วงเงิน 18.32 ล้านบาท (0.51% ของวงเงิน)
ตัวอย่างที่ได้จากการติดตามประเมินผล...กลุ่มปรับปรุงคุณภาพไม้ผลบ้านทุ่งสงคราม จ.จันทบุรี กู้เงิน 336,540 บาท ซื้อแม่ปุ๋ยมาผสมปุ๋ยสั่งตัดกันเอง ตามค่าวิเคราะห์ดินที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ 30% รวมทั้งพืชมีลำต้นที่แข็งแรง และลดการระบาดของโรค
สหกรณ์การเกษตรสามชุก จำกัด จ.สุพรรณบุรี ได้รับสินเชื่อ 10 ล้านบาท ในการจัดหาแม่ปุ๋ย และใช้เครื่องผสมปุ๋ยสั่งตัด ตามสูตรที่สมาชิกสั่งซื้อ ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ 29%
เป็นที่น่าสังเกต เกษตรกรใช้ปุ๋ยสั่งตัดแบบซื้อแม่ปุ๋ยมาผสมเอง กับใช้เครื่องผสมปุ๋ย ที่สหกรณ์ไปกู้เงินมา ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ย
ไม่ต่างกัน...แต่แบบผสมเองลดต้นทุนได้มากกว่านิดหน่อย
...
แต่นี่เป็นแค่การประเมินผลเบื้องต้นในเรื่องลดต้นทุนค่าปุ๋ย...ส่วนเรื่องประสิทธิภาพของปุ๋ยสั่งตัดจะช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นแค่ไหน ปุ๋ยสั่งตัดแบบชาวบ้านผสมเอง กับใช้เครื่องผสมที่บางหน่วยงานพยายามจะให้สถาบันเกษตรกรซื้อไปใช้ จะได้ผลผลิตต่างกันหรือไม่
หวังว่า...จะมีการติดตามและประเมินผลกันในขั้นต่อไป.
สะ–เล–เต