ปั้นวุฒิภาวะสังคมไทย "เห็นต่างอย่างเข้าใจ-ก้าวข้ามวังวนความรุนแรง"

ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อนแล้ว!

นั่นคือประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2562 แต่ที่เป็นประเด็นร้อนแรงไม่แพ้อากาศเมืองไทยจนปรอทแทบแตก คงหนีไม่พ้นการเมืองของประเทศไทย เรื่อง การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.นี้ และเรื่องบุคคลที่จะก้าวขึ้นมาเป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

แน่นอนเมื่อมีการแข่งขัน ย่อมมีทั้งผู้สมหวังและผิดหวัง โดยหมายรวมถึงบรรดาเหล่ากองเชียร์ต่างๆด้วย

และผู้ที่ผิดหวังคือ กลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะอาจเกิดภาวะเครียดตามมาเป็นเงาตามตัว และสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือ ผลกระทบจากความเครียด ซึ่งมี อาการทางกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อต้นคอหรือตามแขนขา ชาตามร่างกาย หายใจไม่อิ่ม อึดอัดในช่องท้อง ปวดท้อง ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติทั้งที่อยู่ในสภาพปกติ หลับแล้วตื่นกลางคืนไม่สามารถหลับต่อได้ ขณะที่ อาการทางจิตใจ ได้แก่ วิตกกังวล ครุ่นคิดตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว ฟุ้งซ่าน หรือหมกมุ่นมากเกินไป เบื่อหน่าย ท้อแท้ สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีทางออก และ เกิดปัญหาพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น เช่น มีการโต้เถียงกับผู้อื่น หรือแม้แต่บุคคลในครอบครัวโดยใช้อารมณ์ตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรง โดยไม่สามารถยับยั้งตัวเองได้ มีความคิดที่จะตอบโต้โดยใช้กำลังในการเอาชนะ มีการเอาชนะทางความคิดกับคนที่เคยมีสัมพันธภาพที่ดีมาก่อน จนทำให้เกิดปัญหาด้านสัมพันธภาพอย่างรุนแรง แต่ที่หนักหนาสาหัสกว่านั้นคือ อาจนำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นสังเวยชีวิตได้เลยทีเดียว

การรู้จักประเมินตัวเองให้รู้ถึงภาวะความเครียด ก่อนที่จะรุนแรงจนกลายเป็นเนื้อร้ายจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

...

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เล่าว่า ขณะนี้กรมมีความเป็นห่วงความคิดเห็นที่ต่างกันทางการเมือง ที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัวและการสูญเสียความสัมพันธ์ระหว่างคนใกล้ชิด จากความพยายามที่จะยัดเยียดให้ทุกคนคิดเหมือนตัวเอง ทั้งที่ในความเป็นปกติของมนุษย์ย่อมมีความเห็นต่าง ซึ่งทุกคนไม่ว่าอยู่ในสถานะพ่อ แม่ ลูก ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนฝูง ควรให้เกียรติและเคารพในความคิดของกันและกัน ถ้าเกิดความเห็นที่แตกต่างกัน ต้องมีสติ และต้องประคับประคองความเป็นครอบครัว และความสัมพันธ์ไว้ก่อน อย่ายัดเยียดให้ยอมรับโดยไม่สมัครใจ ดังนั้น การรู้จักประเมินความเข้มข้นของอารมณ์ตนเองและคนรอบข้าง เพื่อชะลอความเครียดและความขัดแย้งทางการเมืองจึงสำคัญ

“สำหรับการติดตามข่าวการเมือง ให้ห่างไกลความเครียดให้ใช้หลัก 5 วิธีที่ควรปฏิบัติ คือ 1.แบ่งเวลาติดตามข่าวไม่ควรนานเกิน 2 ชั่วโมง 2.ทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติ หันเหความสนใจไปเรื่องอื่น 3.เคารพความคิดเห็นแบบประชาธิปไตยที่มีความแตกต่างได้ โดยไม่ดูข่าว หรือรับข้อมูลเพียงด้านเดียว ควรเปิดกว้างและรับข้อมูลข่าวสารที่แตกต่าง 4.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และ 5.ผ่อนคลายความเครียด เช่น การออกกำลังกาย ทำสมาธิ เป็นต้น หากอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ มีความเครียดรุนแรง สามารถขอรับคำปรึกษา เพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสม ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323” อธิบดีกรมสุขภาพจิต ขยายภาพทางออกจากภาวะเครียดจากการเสพข่าวการเลือกตั้ง

ขณะที่ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต เล่าว่า นอกจากความเครียดจากการติดตามข่าวการเมืองแล้ว อีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ เฮทสปีช (Hate Speech) หรือการสร้างวาทกรรมความเกลียดชังอย่างรุนแรงในเรื่องที่เกี่ยวกับอุดมการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริบททางสังคม ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงทางกายได้ โดยในอดีตมีการสร้างวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชังอยู่มาก จนนำไปสู่ความรุนแรงหลายเหตุการณ์ ซึ่งหากวิเคราะห์แล้วในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ที่อยู่ในโหมดการหาเสียงเลือกตั้งจะพบว่ามีแนวโน้มของการใช้วาทกรรมที่สร้างความรุนแรงอยู่ หากเทียบกับสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในระยะหลายปีที่ผ่านมาของไทย ที่ขณะนี้ถือว่า อยู่ในช่วงต้นๆของการสร้างความเกลียดชัง จึงต้องช่วยกันหยุดโดยใช้หลัก 2 ไม่ 1 เตือน เพื่อไม่ให้ลุกลามเป็นความขัดแย้งรุนแรง

“หลัก 2 ไม่ คือ 1.ไม่สื่อสารความรุนแรง และ 2.ไม่ส่งต่อความรุนแรง ซึ่งหลายคนจัดอยู่ในกลุ่มนี้ คือไม่ได้เป็นคนคิดสารที่สร้างความเกลียดชัง แต่มีการส่งต่อข้อความที่คนอื่นผลิตขึ้น เป็นการส่งต่อความเกลียดชังโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น จึงมาสู่ประเด็น 1 เตือนคือ เมื่อเจอคนที่ผลิตสารที่สร้างความเกลียดชัง เราต้องเตือนไม่ส่งต่อ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การตอบกลับด้วยถ้อยคำสุภาพจะช่วยลดความรุนแรงได้ สถานการณ์การเมืองไทยที่ถือเป็นประเทศกำลังพัฒนา ไม่มีประเทศไหนที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ยังย่ำอยู่กับความรุนแรง การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองยังอยู่ในวังวนของความเห็นต่างที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ หากเราปรับและป้องกันไม่ให้รุนแรงขึ้น ก็จะช่วยให้การแสดงความเห็นการเมืองที่ยอมรับกัน ไม่รุนแรง มีวุฒิภาวะที่ไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ” นพ.ยงยุทธ กล่าว

...

ทีมข่าวสาธารณสุข มองว่า การยอมรับความเห็นต่าง ภายใต้การมีเหตุและมีผลเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากวังวนความขัดแย้งและความรุนแรงลงได้ ซึ่งตัวแปรสำคัญที่สุดคือ ต้องเริ่มจากตัวเราเอง ที่จะไม่ร่วมสร้างความเครียด ทั้งทางจิตใจ ทางกาย และสร้างความเกลียดชังในสังคม จนทำลายสัมพันธภาพอันดีระหว่างกัน เพื่อก้าวข้ามวังวนที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดวิกฤติทางการเมืองจากความเห็นที่ต่างกัน

ถึงเวลาสร้าง “สังคมสร้างสรรค์” เพื่อร่วมกันนำพาประเทศหลุดจากวังวนความแตกแยกอย่างยั่งยืนเสียที.....

ทีมข่าวสาธารณสุข