เขื่อนแห้งขอด-6 จังหวัดอีสานวิกฤติ
ภัยแล้งจ่อคอคนไทยส่อรุนแรงกว่าปีกลาย เหตุฤดูร้อนจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” มาเร็วกว่าทุกปี ขณะที่ปริมาณฝนตกลดลง ต่ำกว่าค่าปกติเฉลี่ยรอบ 30 ปี ร้อยละ 5 ทำให้ไม่มีน้ำลงเขื่อนเตือน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างมีน้ำใช้การได้แค่ร้อยละ 9 ส่วนภาคอีสานตอนล่างน่าห่วงสุด 6 จังหวัด ไม่มีทั้งฝน และเขื่อนขนาดใหญ่กักเก็บน้ำ แนะประชาชน ใช้น้ำอย่างประหยัด งดทำนาปรังรอบ 2 ด้านนายกฯ ห่วงภัยแล้ง กำชับบริหารน้ำเร่งด่วน ตั้งศูนย์ฝนหลวง 5 ภูมิภาค 12 หน่วยปฏิบัติการปูพรม ทำฝนหลวง 1 มี.ค.-31 ต.ค.
หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน พ.ศ.2562 ไปเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าสิ้นสุดฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูร้อนเร็วกว่าทุกปี ส่งผลให้ไม่ถึงสัปดาห์ หลายพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำเพื่อทำการเกษตร
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มี.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าในปี 2562 ฤดูร้อนมาเร็วอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติ เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญเล็กน้อย และคาดการณ์ว่าปริมาณฝนน้อยลงต่ำกว่าค่าปกติเฉลี่ยรอบ 30 ปี ร้อยละ 5 อาทิ ภาคเหนือ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรวม 30 ปี เดิม 1,230.9 มิลลิเมตร ในปีนี้ลดลงเหลือ 1,000 มิลลิเมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรวม 30 ปี เดิม 1,400 มิลลิเมตร ปีนี้ลดลงเหลือ 1,100 มิลลิเมตร ภาคกลาง ค่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรวม 30 ปี เดิม 1,275 มิลลิเมตร ในปีนี้ลดลงเหลือ 1,000 มิลลิเมตร ต้องระวังเรื่องภัยแล้งอย่างใกล้ชิด ภาครัฐต้องเตรียมตัวการบริหารจัดการน้ำด้วย
...
รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวอีกว่า ในปีนี้เรื่องภัยแล้งน่าเป็นห่วงทุกภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก แต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในจังหวัดศรีสะเกษ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทำให้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเดิมทุกปีอยู่แล้ว ประกอบกับเป็นพื้นที่หลังเขา หรือพื้นที่เหงาฝน แม้ในช่วงฤดูฝน หากไม่เกิดพายุฝนเขตร้อน หรือร่องมรสุมแรงเพียงพอ จะเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยได้รับน้ำฝนเหมือนกับพื้นที่อื่น อาจรับผลกระทบภัยแล้งมากที่สุดในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.นี้
ขณะที่นายสุทัศน์ วีสกุล ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในปี 2561 ปริมาณฝนตกมีค่าเฉลี่ยเท่ากับค่าปกติ คือ 1,467 มิลลิเมตร แต่การกระจายของฝนไปยังพื้นที่ต่างๆน้อย แค่ร้อยละ 40 เทียบกับค่าเฉลี่ยปกติ หรือปริมาณ 800-900 มิลลิเมตร ทำให้น้ำในเขื่อนน้อยกว่าที่ควรเป็น มีผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ปัจจุบันเขื่อนที่มีน้ำใช้การได้จริง เช่น เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 48 ล้าน ลบ.ม.เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี 135 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น 106 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลต่อแม่น้ำมูล เริ่มขาดแคลนน้ำแล้ว มีผลต่อในพื้นที่ 6 จังหวัด เกิดปัญหาประสบภัยแล้ง ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ชัยภูมิ ขอนแก่น และเลย
ผอ.สสนก.กล่าวอีกว่า สถานการณ์ภัยแล้งปี 2562 มีลักษณะคล้ายกับปี 2557 น้ำในเขื่อนต่ำกว่าระดับเก็บกัก จนถึงขั้นน้ำต่ำกว่าท่อไม่สามารถระบายออกจากในเขื่อนได้ เจ้าหน้าที่ต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบายน้ำให้กับประชาชนอุปโภคบริโภค สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ พื้นที่นี้ไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ ประกอบกับปริมาณฝนตกน้อยที่สุดของทุกปี ทำให้มีหลายพื้นที่เริ่มขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคแล้ว ดังนั้นภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ และวางแผนรับมือภัยแล้งครั้งนี้ให้ดี
นายสุทัศน์กล่าวอีกว่า ในส่วนภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง มีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติเช่นกัน ทำให้อ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.อุทัยธานี และอ่างเก็บน้ำกระเสียว จ.สุพรรณบุรี และอ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำน้อย น้ำใช้การได้ประมาณร้อยละ 9 ของระดับน้ำกักเก็บ มีผลให้พื้นที่ 9 จังหวัด รับผลกระทบภัยแล้ง ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก แพร่ สุโขทัย พิจิตร กำแพงเพชร ดังนั้นน้ำอาจจะไม่เพียงต่อการทำเกษตร ภาครัฐต้องเข้าไปตกลงกับเกษตรกรให้ใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเท่านั้น ส่วนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มี 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำ 12,480 ล้าน ลบ.ม.น้อยกว่าปี 2560 ประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ 4 เขื่อน ยังบริหารจัดการน้ำได้ ตอนนี้เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ฤดูร้อนมาเร็วและปริมาณฝน น้อยกว่าปกติ ตั้งแต่ 1 มี.ค.-พ.ค.ถึงจะเข้าสู่ฤดูฝนหรือฤดูทำนา หลายพื้นที่จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำเพื่อการบริโภคก่อน
ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างทั้งหมด 50,825 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 67 ของความจุ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 26,896 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 ยังอยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการให้ทุกภาคส่วนในเขตชลประทานจนสิ้นสุดฤดูแล้งได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 4 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 14,650 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 59 ของความจุอ่างรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 7,954 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำเพียงพอใช้ในทุกกิจกรรมเช่นกัน ส่วนในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/2562 มีแผนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.61-30 เม.ย.62 จัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางไว้ 23,100 ล้าน ลบ.ม. ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา จัดสรรน้ำตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.61-30 เม.ย.62 รวม 8,000 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำในวันที่ 28 ก.พ. 62 ใช้น้ำไปแล้วทั้งประเทศ 14,234 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของแผน เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้ว 6,042 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 76 ของแผน
...
รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวอีกว่า ในส่วนของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างที่จะต้องมีการควบคุมการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด เน้นใช้น้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนทับเสลา และเขื่อนกระเสียว ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำร้อยละ 30-60 ของความจุอ่าง มีจำนวน 17 แห่ง อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนน้ำอูน เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนสิรินธร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล ฯลฯ สามารถส่งน้ำสนับสนุนการปลูกพืชฤดูแล้งเฉพาะพืชใช้น้ำน้อยเท่านั้น ดังนั้นขอให้ประชาชนและเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด และงดทำนาปรังรอบ 2 ทั้งนี้ กรมชลประทานเตรียมเครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด รถบรรทุกน้ำ รถแทรกเตอร์ 4,850 เครื่อง เพื่อเข้าช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทานด้วย
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการน้ำ ว่าสถานการณ์เขื่อนชลประทาน และอ่างเก็บน้ำในภาคเหนือ และภาคกลาง มีน้ำกักเก็บค่อนข้างมาก เพราะภาคเหนือตอนบนมีฝนตกมาก แม้เดือน ก.พ.เข้าสู่ฤดูร้อน
แต่ยังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาคเหนือตอนล่าง มีปัญหาภัยแล้ง แต่อาศัยน้ำจากเขื่อนชลประทานของภาคเหนือตอนบนมาหล่อเลี้ยงได้ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง อย่างรุนแรง เนื่องจากเมื่อปี 2561 มีคำสั่งจากผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ให้ระบายน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และในเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ แต่ละแห่งระบายน้ำออกประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ม.เป็นการระบายมากเกินกว่าที่ควรจะระบาย เพราะในปี 2560 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกรงว่าจะเกิดน้ำท่วมซ้ำ ขณะที่ระดับฝนตกลดอย่างกะทันหัน เหลือร้อยละ 40 ของค่าเฉลี่ย การระบายน้ำ 2 เขื่อนส่งผลให้แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลไม่มีน้ำไหลหล่อเลี้ยงเกษตรกร เพราะเป็นแม่น้ำความสำคัญเหมือนสายเลือดใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะไม่มีน้ำจากพื้นที่ใดมาช่วยเหลือได้ ดังนั้นประชาชนควรต้องใช้น้ำกันอย่างประหยัด
...
วันเดียวกัน พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยภัยแล้งที่เริ่มขึ้นแล้ว หลังได้รับรายงานปริมาณน้ำในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก ส่วนใหญ่เกิดจากการระเหยของน้ำเพราะอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยืนยันน้ำเพียงพอให้ประชาชนใช้ไปจนถึงเดือน พ.ค.แน่นอน นายกฯกำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการบริหารจัดการน้ำอย่างเร่งด่วน เพื่อรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ขอประชาชนใช้น้ำประหยัดและปลูกพืชใช้น้ำน้อย ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานจะเร่งส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจความต้องการ และวางแผน ป้องกัน โดยรัฐบาลตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 5 ภูมิภาค 12 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลัก ตั้งแต่ 1 มี.ค.-31 ต.ค.62 ทั้งป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง เติมน้ำต้นทุนในเขื่อน บรรเทาหมอกควันและไฟป่า และยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ