รอบเดือนที่ผ่านมา มีน้องๆในโรงพิมพ์ เดินมาขออนุโมทนาบุญ สองคน คนแรกเป็นชาย ถือพานธูปเทียน มาขออโหสิกรรม ตามธรรมเนียมของนาค ที่จะไปบวช คนที่สองเป็นหญิง ถือพับผ้าสีสันมลังเมลือง มายื่นให้อนุโมทนา บอกว่าจะไปบำเพ็ญศีลภาวนาแบบนักบวชหญิง

สีหน้าแววตาของทั้งสอง “อิ่มบุญ” เต็มที่

ข้อสะดุดใจ วัดที่ทั้งหญิงทั้งชายจะไป อยู่ไกลถึงอินเดีย

ย้อนไปก่อนหน้านั้นสองปี ญาติหญิงอีกคน ใช้เงินทำงานศพพ่อแม่ไปห้าล้าน เจอกันหลังงานศพ เธอหารือ “หนูจะไปอินเดีย จะเอากระดูกพ่อแม่ในโกศ ไปรับบุญที่อินเดียด้วย”

“ทำไม ต้องไปทำบุญถึงอินเดีย” ผมนึกในใจ “วัดในเมืองไทย ที่รื่นรมย์สงบงาม มีให้ไปอยู่ถมไป”

ผมยังไม่เคยไปอินเดีย สักครั้ง...ทั้งๆที่มีคนชวน คนเชิญไป มากมาย ด้วยเหตุผลหลายประการ ประการสำคัญคิดว่า พระดีวัดดีและธรรมะดี ในโลกวันนี้ รวมศูนย์อยู่ที่เมืองไทย

ผมศรัทธา คำสอนพระพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา จึงไม่สนใจไขว่คว้าไปหาธรรมที่ไหนอีก

ผมคิดว่า คนที่มีศรัทธาไปหาบุญที่อินเดีย นอกจากอยากไปไหว้ สังเวชนียสถาน ที่ประสูติ ตรัสรู้ ที่แสดงธรรม และที่นิพพาน...แล้วบุญที่จะได้ คงสนองศรัทธา ได้มากกว่า บุญที่คุ้นเคยในบ้านเมืองตัวเอง

ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรตรงไหนเลย

ข้อสังเกตส่วนตัวผม ข้อแรก คนที่ไปหาบุญถึงอินเดีย เป็นคนมีสตางค์ ข้อต่อมา ได้ค่านิยมนี้จากพระในวัดดังๆ ที่เน้นพิธีกรรมโอ่อ่าโอฬาร...มากกว่า เน้น “ธรรมะ” แท้

คุณสมบัติพระโสดาบัน พระอริยบุคคล ชั้นแรก มีสามข้อ สักกายทิฐิ (กายนี้สักว่ากาย) วิจิกิจฉา (ไม่ลังเลในพระรัตนตรัย)สีลัพพตปรามาส แปลตามศัพท์บาลี ไม่ลูบคลำศีลพรต

เท่าที่ผมเข้าใจ คือไม่ยึดมั่นถือมั่น ในศีล ในพรต หรือวัตรปฏิบัติ จนเกินไป

...

ศีล หรือพรต ที่ว่า ก็คือ ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ยึดถือ ตามๆกัน โดยไม่ย้อนไปคิดถึงเหตุและผล...ดีหรือไม่ดี ที่จะตามมา

ตัวอย่างเรื่องที่วัดสิงห์ บางขุนเทียน ขบวนแห่นาค บวชนาค ครึกโครม ที่ทำกันเป็นประเพณี ฝ่ายคนบวชคิดว่า อยู่ในงานบุญ เมื่อสะดุดไม่ให้ทำ เพราะโรงเรียนในวัดกำลังสอบ ก็โกรธจัด บุกพังบุกทำร้ายครู นักเรียน ที่กำลังสอบ

กว่าจะรู้ว่า บุญงานบวช เป็นบาปหนัก ก็ถูกจับเข้าคุกเข้าตะรางกันกว่ายี่สิบคน

พระบวชใหม่สองสามวันต่อมา สมภารท่านว่า ช็อกกับงานบุญได้บาป ฉันข้าวไม่ลง ห่มจีวรไม่เป็น

นี่คือบาปทันตา ผลของความเชื่อที่ทำตามๆกันมา โดยไม่ มีพระท่านสอนให้รู้ธรรม คือความจริงว่า ขนบธรรมเนียม พิธีกรรม ที่ทำๆกันนั้น เป็นสิ่งแปลกปลอม ไม่ใช่เนื้อแท้ของธรรม

ใครที่เคยสอนคำ “บวร” ว่า หมายถึง บ้าน วัด โรงเรียน รักกันช่วยกันทำเรื่องดีๆ เจอเรื่องที่วัดสิงห์แล้ว ก็คงต้องทบทวนคำสอนใหม่ เรื่องสำคัญ ที่ผมเห็นว่าจะต้องทบทวนให้หนัก ก็คือเรื่องพิธีกรรม

ถ้าพระสนุกแต่จะสอน ให้โยมทำบุญให้มากๆ ข้าวของถวายพระถวายวัดต้องงามๆ ชาวบ้านเผลอคิดว่า พิธีกรรม คือบุญ เกิดเรื่อง ใหญ่ จนกลายเป็นทำบาปใหญ่ไปโดยไม่รู้ตัวไปแล้ว

คำสั่งมหาเถรสมาคม...ลงโทษสมภารวัดที่ปล่อยปละ...ผมว่าเป็นความเข้าใจแก้ที่ปลายเหตุ

ต้นเหตุ อยู่ที่ความเข้าถึงเนื้อแท้ของงานบุญ ความเข้าใจว่า วัดหรืออาราม คือสถานที่ที่สงบงาม...สมภารต้องรู้จัก “ขัดนิมนต์” โยมๆไว้บ้าง ขืนยอมให้วัดเป็นวิกต่อไป ไม่ช้าบ้านกับวัดก็คงบรรลัยไปด้วยกัน.

กิเลน ประลองเชิง