สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้พักเรื่องข่าวไว้ก่อนนะครับ สัปดาห์นี้มาคุยกันในเรื่องข้อกฎหมายเกี่ยวกับคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญากันบ้างครับ ปัจจุบันมีคำพิพากษาฎีกาที่เพิ่งกลับหลักเดิม ซึ่งแนวคำวินิจฉัยของคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับล่าสุด ได้วางบรรทัดฐานไว้ชัดเจน เป็นประโยชน์ในการศึกษาหลักกฎหมาย และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการได้รับความเสียหายในทางแพ่ง เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย

เมื่อมีการกระทำความผิดในทางอาญาเกิดขึ้น ผู้เสียหาย ผู้เป็นบิดามารดา ภรรยา บุตร หรือทายาทโดยธรรม แล้วแต่กรณี ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ แต่จะมีสิทธิ์ได้รับค่าเสียหายหรือค่าทดแทนมากน้อยเพียงใด ศาลจะวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องค่าสินไหมทดแทน เพื่อละเมิด มาตรา 438 ถึง มาตรา 448

ทั้งนี้ ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ชื่อเสียง หรือเสรีภาพ ผู้เสียหาย ผู้เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ภรรยา บุตร หรือทายาทโดยธรรม แล้วแต่กรณี สามารถยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเข้าไปในคดีอาญาได้ โดยไม่จำเป็นต้องยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ และไม่ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมศาลอีกด้วย ซึ่งปกติหากจัดหาทนายไปยื่นฟ้องแพ่งเอง ผู้เป็นโจทก์ในคดีแพ่งจะต้องชำระค่าขึ้นศาลอัตราร้อยละสองของทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดี แต่หากยื่นคำร้องเข้าไปในคดีอาญา ซึ่งมีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ กรณีนี้ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลครับ

...

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทด แทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยให้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้

โดยตามแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาฉบับเดิม ผู้ที่จะมีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ รวมถึงมีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44 / 1 นั้น จะต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยเท่านั้น คือ จะต้องไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของจำเลย เช่น ไม่ได้มีส่วนประมาทร่วม หรือไม่มีส่วนในการร่วมทะเลาะวิวาท เป็นต้น

อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8793/2556
เมื่อข้อเท็จจริงว่าผู้ตายมีส่วนประมาทยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ รวมทั้งมีผลให้คำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1

ต่อมาในปี 2560 ได้มีคำพิพากษาฎีกาฉบับ(ประชุมใหญ่) ได้วางบรรทัดฐานในการวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวไว้ โดยวินิจฉัยว่า แม้ผู้เสียหายจะไม่ใช่ผู้เสียหายทางนิตินัยในคดีอาญา แต่ก็เป็นผู้เสียหายในทางแพ่งได้ จึงมีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอค่าเสียหายทางแพ่งมาในคดีอาญาได้

เทียบเคียง คำพิพากษาฎีกาที่ 5400/2560 (ประชุมใหญ่)
ผู้เสียหายที่มีส่วนในการกระทำความผิดด้วย แม้ไม่ใช่ผู้เสียหายในทางนิตินัยในคดีอาญาก็ตาม แต่ก็เป็นผู้เสียหายในทางแพ่งจึงสามารถยื่นคำร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งมาในคดีอาญาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ได้

ส่วนการกำหนดค่าสินไหมทดแทน ให้พิจารณาว่าฝ่ายผู้เสียหายมีส่วนทำให้เกิดความเสียหายขึ้นมากน้อยเพียงใดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 ประกอบด้วย

สุดท้ายนี้ หวังว่าข้อมูลที่ผมได้นำเสนอแก่ท่านในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ และจะเป็นประโยชน์มากกว่านี้ หากช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ต่อๆ ไป เพื่อให้ประชาชนรู้ถึงสิทธิตามกฎหมายของตนเองครับ

สำหรับใครที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ