เป็นอีกเรื่องที่น่าติดตามเนื้อหา “ร่าง พ.ร.บ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท” ที่ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

มีเหตุผลในการไกล่เกลี่ยคือ คำนึงถึงความยินยอมของคู่กรณี จะทำให้คดีขึ้นสู่ศาลลดลง ลดปัญหาความขัดแย้ง เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในสังคม ลดงบประมาณแผ่นดิน และเสริมสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข

กรรมาธิการฯ บางท่านเสนอให้มีประเด็นสำคัญที่ควรเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาในสังคม

ให้เพิ่มอนุมาตราเป็น ม.37/3 (4) ให้เป็นเรื่องที่ไกล่เกลี่ยได้แก่ (4) ความผิดตาม ปอ ม.335 ที่ได้กระทำด้วยความจำใจ หรือยากจนเหลือทนทาน และทรัพย์มีราคาเล็กน้อย เพื่อความอยู่รอดเฉพาะหน้า

หรือเพื่อการครองชีพชั่วคราว

เหตุผลที่กรรมาธิการฯ นำเสนอด้วยเหตุผลที่น่าสนใจว่า มีหลายกรณีที่เกิดขึ้นแล้วกระทบต่อความรู้สึกของคนทุกระดับในสังคม กรณีแม่ลูกสี่ลักขนุนหลังกระทรวงมหาดไทยไปให้ลูกเล็กทั้งสี่ที่กำลังหิวโหยกิน แม่อายุ 17 ปี มีลูกอ่อนอายุ 3 เดือน ลักนม 2 กล่อง ผ้าอ้อม 2 ผืน ไปให้ลูกดื่มลูกใช้ สามีลักมะพร้าวอ่อน 3 ลูก ไปให้ภรรยาซึ่งแพ้ท้องอยากกิน หรือพี่ชายลักซาลาเปาที่กำลังจะนำไปทิ้ง เพื่อไปให้น้องที่กำลังหิวกินด้วยความยากจน

มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นในสังคมอีกมาก คนเหล่านี้ไม่ได้ทำผิด เพราะสันดาน หรือมีจิตใจที่เป็นโจร แต่จำใจกระทำผิด

เพราะความยากจนเหลือทนทานกระทำต่อทรัพย์ราคาเล็กน้อยเพื่อความอยู่รอดเฉพาะหน้า แต่ต้องมาติดคุก เพราะกฎหมายเดิมไม่เปิดช่องให้ ถือเป็นอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนจึงต้องสอบสวนดำเนินคดีส่งสำนวนให้อัยการพิจารณา

อัยการอาจใช้อำนาจตาม ม.21 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรอัยการฯ 2553 สั่งไม่ฟ้อง เพราะถือว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน หรืออาจสั่งฟ้องให้ศาลพิจารณาพิพากษา ทำให้คดีความต่างๆยืดเยื้อ

...

ใช้เวลานานทำให้รกโรงรกศาล

มีบางกรณีแม่ลูกอ่อนกระทำผิด ต้องเอาลูกน้อยไปให้นมในห้องขัง เป็นที่น่าเวทนาต่อคนที่พบเห็น

เมื่อมีร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้ามาโดยเฉพาะ มี ม.37/3 เดิมที่ให้ไกล่เกลี่ยได้เฉพาะกรณี (1) ความผิดลหุโทษฯ (2) ความผิดอันยอมความได้ (3) ความผิดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ควรเพิ่ม (4) ความผิดที่ได้กระทำด้วยความจำใจหรือยากจนฯ เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในเรื่องการพิจารณาคดี น่าให้การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.

เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้.

“เพลิงพยัคฆ์”
pluengpayak@thairath.co.th