การปลูกพืชในระบบโรงเรือนขนาดใหญ่ มีทั้งปัญหาด้านการจัดการ ความเสียหายจากการรั่วไหลของปุ๋ยออกนอกระบบ การอุดตันของหัวหยด รวมถึงแรงงานที่หายาก ค่าจ้างแพงขึ้น
นายศรันย์ หงษาครประเสริฐ อาจารย์ผู้พัฒนาระบบการปลูกพืชพลังงานแสงอาทิตย์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ประดิษฐ์โรงเรือนต้นแบบพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็ก ราคาประหยัดแค่ 8,000 บาท ที่มีความทนทานใช้งานได้นานถึง 10 ปี ระบบการทำงานไม่ซับซ้อนยุ่งยาก เคลื่อนย้ายได้สะดวก สามารถนำไปในพื้นที่เล็กขนาด 5 ตร.ม.ได้ จึงเหมาะที่จะนำไปวางเพาะปลูกพืชข้างบ้าน หรือบนดาดฟ้า หลังคาตึกได้

เป็นโรงเรือนมีโครงสร้างเป็นโครงเหล็ก มีขาตั้งยกสูงจากพื้น 1 ฟุต หลังคาสูง 1.8 ม. กว้าง 1 ม. ยาว 4 ม. คลุมผ้าพลาสติกชนิดโพลีคาร์บอเนต มีความทนทานแสงแดด รังสียูวี ได้มากกว่าพลาสติกมุงหลังคาทั่วไปหลายเท่า ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนวัสดุคลุมหลังคาบ่อย ช่วยลดต้นทุนไปได้ในตัว
ภายในสามารถวางกระถางปลูกขนาด 12 นิ้ว ได้ 18 กระถาง มีชุดวงจรควบคุมแรงดันไฟฟ้ากระแสตรง ที่ไม่ทำให้เกิดอันตรายจากไฟฟ้าช็อต พร้อมมีวงจรตั้งเวลาปิด-เปิด ให้น้ำและปุ๋ยแบบหมุนเวียน ที่ใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ 12 โวลต์ 120 วัตต์ จ่ายไฟกระแสตรงไปยังปั๊ม สูบน้ำจากถังบรรจุด้านล่างขึ้นไปยังกระถางปลูก ตั้งเวลาจ่ายน้ำหยดในอัตรา 1 ชั่วโมงต่อครั้ง ครั้งละ 10 นาที
...
เพราะเป็นปริมาณน้ำที่คำนวณแล้วว่า เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชได้ดีที่สุดสามารถควบคุมคุณภาพผลผลิตได้ดี

ที่สำคัญ โรงเรือนต้นแบบระบบพลังงานแสงอาทิตย์นี้ ได้ถูกนำไปทดลองปลูกพืชมาแล้วหลายชนิด เช่น เมลอน, ฟักทอง, แตงกวา, มะระ, ถั่วฝักยาว, พริกหวาน, ดอกขจร, ดอกแสงจันทร์, มะเขือเทศ, ถั่วพุ่ม รวมทั้งนำไปทำเป็นโรงเรือนในการปรับปรุงพืชไร่ พืชสวน พืชสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ อย่าง ฟ้าทะลายโจร, โสมไทย, ลูกใต้ใบ, รากสามสิบ, พันธุ์ข้าว, พันธุ์ข้าวโพด, คาล่า, ลิลลี่, กุหลาบตัดดอก ปรากฏว่า ใช้งานได้ผลเป็นอย่างดี ได้ผลผลิตที่ควบคุมคุณภาพและปริมาณได้ และยังสามารถลดการจ้างแรงงาน
โรงเรือนแบบนี้ไม่มีขายสำเร็จรูป เกษตรกรสนใจต้องไปซื้ออุปกรณ์มาประกอบเอง ติดต่อขอแบบแปลนโรงเรือนได้ที่ 06-4065-4197 อีเมล jeptagron@gmail.com ราคาต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาท หากนำไปปลูกเมลอนเพียงแค่ 3 รอบ แค่ปีเดียวได้ทุนคืน.