ดาวเทียมสัญชาติไทย TSC-1 (THAI SPACE CONSORTIUM-1)
คือดาวเทียมวิจัยฝีมือคนไทยดวงแรกของประเทศ ที่จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2567
ดาวเทียม TSC-1 คือ 1 ในโครงการภาคีความร่วมมือพัฒนาความสามารถเทคโนโลยีอวกาศไทยของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มอบให้ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) ร่วมกันดำเนินการสร้างดาวเทียมวิจัยขนาดเล็ก น้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม ออกแบบและสร้างโดยทีมวิศวกรและบุคลากรของ 3 หน่วยงาน ใช้เทคโนโลยีในประเทศ สำหรับใช้พัฒนาขีดความสามารถของประเทศไทยด้านเทคโนโลยีอวกาศ
ที่สำคัญดาวเทียมดวงนี้จะนำไปสู่การยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศและจะนำประเทศไทยข้ามผ่านพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เพราะดาวเทียมจะถูกใช้ในการสร้างคน สร้างธุรกิจใหม่หรือ “ธุรกิจอวกาศ” สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีและกำลังคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ไปสู่ภาคเอกชน หรือบริษัทสตาร์ตอัพด้านอวกาศเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป
...
ดาวเทียม TSC-1 ใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท “ดาวเทียม TSC-1 เริ่มดำเนินการแล้ว ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานที่ทำร่วมกัน แบ่งกันรับผิดชอบ สดร.รับผิดชอบพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สำหรับดาวเทียมและเป็นผู้ประสานงานภาคีความร่วมมือ จิสด้า รับผิดชอบการพัฒนาส่วนประกอบและการส่งดาวเทียมขึ้นไปสู่วงโคจร
ขณะที่ สซ.รับผิดชอบการพัฒนาอุปกรณ์อัตโนมัติ พัฒนาระบบทดสอบดาวเทียมรวมทั้งออกแบบการทดสอบความทนทานของดาวเทียม ปัจจุบันการดำเนินการอยู่ในขั้นตอนการออกแบบระบบทัศนศาสตร์ของกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 ซม. เป็นอุปกรณ์หลักสำคัญของดาวเทียม ซึ่งต้องทนต่อแรงสั่นสะเทือนขณะขนส่งดาวเทียมออกไปนอกโลกและยังสามารถทำงานในอวกาศได้ นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์รอง ได้แก่ อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ สำหรับศึกษาสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอวกาศที่ใกล้กับชั้นบรรยากาศด้านบนสุดของโลกเราได้” ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าดาวเทียม TSC-1
พร้อมกันนี้ สดร.ได้มีลงนามความร่วมมือกับสถาบันทัศนศาสตร์ กลศาสตร์ขั้นสูงและฟิสิกส์แห่งฉางชุน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สำหรับดาวเทียมและสร้างดาวเทียมวิจัย
สำหรับแผนการดำเนินการดาวเทียม TSC-1 เริ่มในปี 2562 ด้วยการทำแผนสร้างดาวเทียม เช่น ออกแบบภารกิจ แนวคิดและรายละเอียดชิ้นส่วนของดาวเทียม ออกแบบในส่วนราย ละเอียดของเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับดาวเทียม โดยการสร้างและทดสอบเครื่องมือหรืออุปกรณ์ของดาวเทียมรวมถึงการออกแบบส่วนประกอบของดาวเทียมควบคู่ไปกับการสร้างชิ้นงานต้นแบบเพื่อทดสอบการทำงาน ปีต่อมา 2563 เตรียมความพร้อมด้านวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ รวมถึงส่วนประกอบที่ใช้สนับสนุนการทำงานของดาวเทียม คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์กลางปี 2564 และจะมีการติดต่อและจองเครื่องปล่อยดาวเทียม ขณะที่ปี 2565-2566 จะทดสอบดาวเทียมก่อนถูกส่งขึ้นสู่อวกาศปี 2567
“นอกจากการสร้างดาวเทียมแล้ว สิ่งที่จะต้องทำด้วยคือการสร้างกำลังคนรุ่นใหม่ผ่านโปรแกรมความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา โดยจะมีการสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งและใช้งานห้องปฏิบัติการเทคโนโลยี ดาวเทียมและอวกาศขึ้นภายในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อม รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและการใช้ประโยชน์ดาวเทียมเพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรผู้ชำนาญการภายในประเทศให้มีจำนวนเพียงพอ โดยขณะนี้ได้ประสานกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรีเอกด้านเทคโนโลยีอวกาศและจะขยายไปสู่มหาวิทยาลัยอื่นๆ เพราะประเทศต้องการกำลังคนที่มีฝีมือมาทำงานด้านเทคโนโลยีอวกาศ แต่ที่ผ่านมา บัณฑิตทางด้านการบินและอวกาศ และสาขาที่เกี่ยวข้องในหลายมหาวิทยาลัยไม่มีตลาดรองรับให้คนเหล่านั้นได้ใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมทางด้านอวกาศ หรือดาวเทียม ดังนั้น ดาวเทียม TSC-1 จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานและสร้างระบบนิเวศสำหรับเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อให้เป็นเวทีสร้างธุรกิจใหม่ด้านอวกาศและเกิดอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศและขยายไปสู่ระดับสากลต่อไป” ผอ.สดร.ระบุ
...
และนี่คือโจทย์ที่ยากและท้าทายสำหรับประเทศไทย
“ทีมข่าววิทยาศาสตร์” มองว่า การสร้างดาวเทียม TSC-1 หรือดาวเทียมไทยทำ คือบทพิสูจน์ความสามารถของประเทศด้วยการสร้างและใช้งานได้จริงได้เอง ที่สำคัญถือเป็นก้าวแรกที่จะทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียมของชาติได้อย่างมั่นคงต่อเนื่องและยั่งยืน
เพราะการมีเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียมเป็นของตนเองคือ การประกาศศักยภาพของประเทศ ที่จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการนำพาประเทศไทยเข้าสู่การแข่งขันในระดับสากลได้อย่างสง่างาม
เหนืออื่นใดคือ การนำพาประเทศไทยข้ามผ่านพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างแท้จริง.
ทีมข่าววิทยาศาสตร์