ไม่ค่อยได้ก้าวเข้าไปถึงเรื่องราวการทำงานของคนในภาครัฐประเภทหนึ่งที่เรียกกันว่า รัฐวิสาหกิจ

แต่นานๆครั้งก็มีเหตุจำเป็นที่ต้องเอ่ยถึงกันบ้างเมื่อเพื่อนฝูงที่เคยทำงานด้านนี้ในหน่วยงานหนึ่งมีเรื่องอึดอัดกับการทำงานในยุคปัจจุบันขององค์กรที่เขารัก

จึงเป็นที่มาของบันทึกจากใจในเรื่อง ททท.องค์กร (เคย) น่าเชื่อถือ ที่นำมาถ่ายทอดต่อในวันนี้ด้วยการอยากชวนทบทวนดูว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยุคใหม่ ได้สร้างผลงานตามวิสัยทัศน์ที่ว่า

“ททท.เป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศด้านตลาดท่องเที่ยว และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” นั้น ในความเป็นจริงกำลังมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

โดยสิ่งที่เห็นขอโฟกัสไปที่การขยันเดินทางไปลงนามความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการท่องเที่ยวกับต่างประเทศมากมายหลายประเทศ แต่หลังจากนั้นขาดความต่อเนื่องในทุกบริบท

ด้านท่องเที่ยววิถีชุมชนเน้นความเก๋ไก๋เป็นแคมเปญเสนอขาย โดยการสร้างซุ้มประชารัฐสุขใจ 148 ซุ้ม เมื่อปี 2559 ขึ้นด้านหน้าด้านข้างสถานีบริการนํ้ามันทั่วประเทศ

แล้วชวนชาวชุมชนนำผลิตภัณฑ์มาวางขายนักท่องเที่ยว

ไม่คิดค่าสถานที่ แทนการนำนักท่องเที่ยวไปสัมผัสวิถีที่ว่าเก๋ไก๋ ถึงวันนี้ดูเหมือนซุ้มเหล่านั้นจะถูกทิ้งร้างกันไปมากแล้ว

งานนี้ กรมการพัฒนาชุมชน โยนงบฯ 148 ล้านบาท ให้ ททท. เป็นผู้สร้างกับทำตลาด ก่อนเจ้าของงบฯรับเป็นผู้ดำเนินการตามมีตามเกิดในเวลาต่อมา

ถัดมาเมื่อ 19 ธ.ค.ปีที่แล้ว...ขณะปี่กลองการเมืองรัวลั่นกันกราวใหญ่ เกิดมี “ไอ้โม่ง” แอบใช้ชื่อย่อ “ททท.” จองโต๊ะจีน 3 โต๊ะ เป็นเงิน 9 ล้านบาท สนับสนุนพรรคการเมืองระดมทุน

ทำเอาเจ้าของชื่อย่อต้องรีบปฏิเสธ แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆกับไอ้โม่ง ฐานละเมิดสิทธิ์เอาชื่อซึ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้กับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ไปใช้

...

การแก้ไขปัญหาทัวร์จีนลดน้อยลงจนไทยต้องใช้ข้าวเหนียวมะม่วง 1.5 ตัน มะม่วงนํ้าดอกไม้อีก 6,000 ลูก ให้ทัวร์จีนกินเพื่อเรียกขวัญกลับมา โดยใช้เงิน ททท.ถมลงไป 7.48 ล้านบาทเลี้ยงทัวร์จีน 10,000 คน เฉลี่ยแพงหูฉี่ จานละ 748 บาท!

นี่ยังไม่นับ ชวนเที่ยวเมืองรอง ที่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น สนามบิน ถนนสู่แหล่งท่องเที่ยว โรงแรมระดับมาตรฐานรับนักท่องเที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

ล่าสุด 23-27 มกราคมปีนี้ จัดงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย” ขึ้น ที่สวนลุมพินี ให้คนมาเที่ยว ชิม ช็อป อาหารและสินค้าจากแต่ละภูมิภาค โดยอ้างว่าจัดกันเป็นครั้งที่ 39

อยากบอกว่า...งานนี้จัดครั้งแรกปี 2523 ถ้านับถึงปีนี้ 39 ปี แต่พอปี 2536 จัดกันครั้งสุดท้ายที่สวนนํ้าชานกรุง ไม่มีคนสนใจไปเที่ยว เพราะเอกชนจัดงานแบบเดียวกันหลายงาน ททท.จึงงดจัดตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา

มีบ้างที่จัดแต่เป็นงานแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างภาค ที่เชียงใหม่ นครราชสีมา มหาสารคาม สุราษฎร์ธานี มีครั้งหนึ่งจัดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่เป็นงานส่งเสริมการขาย ไม่ใช่งานแฟร์ท่องเที่ยวไทย

เพิ่งจะมาฟื้นฟูกันใหม่เมื่อปี 2550 ที่เมืองทองธานี ก่อนย้ายมาสวนลุมพินี แล้วก็ “มั่วนิ่ม” เหมาเอาว่าจัดมาเป็นปีที่ 39 หลอนให้ดูขลังซะงั้น!...ลองทบทวนกันใหม่ไม่ดีกว่าเหรอ?

เหล่านี้เป็นเสียงติติงด้วยความบริสุทธิ์ใจที่มีค่าควรแก่การรับฟังบ้างไหม.

“ซี.12”