ต้องต่ออีกสักวันสำหรับหนังสือของ นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทยในเรื่อง “เกษตรอินทรีย์ วิถียโสธร” ที่เสนอเรื่องราวและประสบการณ์ในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ด้านเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดยโสธร เมืองเกษตรอินทรีย์ต้นแบบของประเทศไทย

นอกจากข้าวหอมมะลิและแตงโมแล้ว ยังมีผลผลิตอื่นๆอีก เช่น ไข่ไก่อินทรีย์ ปลาตะเพียน พืชผักต่างๆ พืชสมุนไพร หญ้าหวาน หอมแดง ถั่วลิสง ดอกกระเจียวหวาน และอีกหลายอย่าง

ที่จะกล่าวถึงสักหน่อยคือ เรื่องการทำไข่ไก่อินทรีย์กับการเลี้ยงปลาด้วยระบบอินทรีย์ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับในยโสธร

ถ้าจะว่าไปแล้ว ในช่วงที่ผมเป็นผู้ว่าฯ ผมถือว่าโชคดีที่มีทีมงานจากกระทรวงเกษตรฯในจังหวัดที่พร้อมเดินไปในทิศทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์จังหวัด เมื่อทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ และภายหลังจากการลงนาม MOU เรื่องจังหวัดต้นแบบเกษตรอินทรีย์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปแล้ว หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด โดยเฉพาะของกระทรวงเกษตรฯได้มีการปรับทิศทางมุ่งสู่เกษตรอินทรีย์กันอย่างพร้อมเพรียง

เรื่องไข่ไก่อินทรีย์ ปศุสัตว์จังหวัด (ธานินทร์ จุฑาทิพย์ชาติกุล) เป็นคนนำมาเสนอกับผมว่าทางกรมปศุสัตว์สนับสนุนให้ทำเรื่องการเลี้ยงไก่ไข่ด้วยระบบอินทรีย์ หลังจากนั้นทีมงานปศุสัตว์ก็ลงมือดำเนินการทันทีในชื่อโครงการ “ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ในระบบการผลิตปศุสัตว์อินทรีย์” โดยได้คัดเลือกจากเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์อยู่แล้วจำนวน 8 กลุ่ม 76 ราย มาอบรมและดำเนินการเลี้ยงตามระบบปศุสัตว์อินทรีย์รายละ 50 ตัว ตั้งแต่กลางปี 2559 จนกระทั่งเมื่อกลางปี 2560 ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์ (มกษ.9000) จำนวน 74 ราย ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดที่ได้รับรองมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์มากที่สุดในประเทศ

...

สำหรับการเลี้ยงปลาแบบอินทรีย์นั้น เริ่มตั้งแต่ผมตั้งโจทย์ให้กับประมงจังหวัด (เดชา รอดระวัง) ว่า ยโสธรเรามีชื่อเสียงเรื่องการแปรรูป ทำปลาส้ม แต่วัตถุดิบคือปลาตะเพียน เรานำเข้าจากจังหวัดภาคกลางเกือบทั้งหมด เลยให้โจทย์ไปว่าทำอย่างไรเราจะทำให้ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) การทำปลาส้มเริ่มต้นที่ยโสธรเอง เพื่อให้เม็ดเงินหมุนอยู่ภายในจังหวัด ทางทีมงานประมงก็เริ่มต้นให้มีการทดลองเลี้ยงปลาตะเพียนในนาข้าว และได้แนะนำให้เกษตรกรใช้อาหารแบบอินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติคือ “ผำ” หรือ “ไข่นํ้า” หลังจากนั้นได้เริ่มให้เกษตรกรเริ่มเลี้ยงปลาด้วยระบบอินทรีย์ จนมีผู้ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ด้านประมงจำนวน 3 ราย

ทั้งหลายทั้งปวงนี้หาอ่านได้ใน “เกษตรอินทรีย์ วิถียโสธร” ซึ่ง รองปลัดบุญธรรม บอกว่าตั้งใจเผยแพร่ทันทีที่ลุกมาจากเก้าอี้ผู้ว่าฯยโสธร และหนังสือนี้ถ้าส่งให้ใครจะส่งไป 2 เล่ม เพื่อว่าให้เก็บเอาไว้อ่านเอง 1 เล่ม และถ้าเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่ใครก็ให้ช่วยมอบต่อ

ดังที่อดีตผู้ว่าฯบุญธรรมบันทึกไว้ “ที่ยโสธรเรามิได้เพียงปลูกพืชอินทรีย์ แต่เราได้ปลูกรักปลูกใจใส่ลงไปในผืนดินด้วย”.

“ซี.12”

อ่านข่าวเพิ่มเติม