แม้จะมีการจับกุมเครือข่ายค้ายาเสพติดอย่างหนัก แต่ปัญหายาเสพติดในทุกพื้นที่ยังไม่หมดไปจากชุมชนและครอบครัว ชาวบ้านยังหวาดระแวงเหตุที่มีผู้เสพยาเสพติดทำร้ายพ่อแม่เพื่อเอาเงินไปซื้อยา ลูกหลานขโมยเงินสิ่งของในบ้านไปขายหาเงินซื้อยาเสพติดมาเสพ บางรายเอามีดจี้เด็กคนแก่เป็นข่าวมาโดยตลอด

ปัญหาของยาเสพติดที่แพร่ระบาดไปทุกพื้นที่ ไม่ใช่แค่เพียงในชุมชนแออัดตามเมืองหลวง เมืองที่เจริญ “ยานรก” คุกคามลุกลามไปทั่วหมู่บ้าน ชุมชนชนบทต่างหวาดกลัวพิษภัยยาเสพติดห่วงลูกหลานติดยา ชุมชนหลายพื้นที่ยังไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ด้วยตนเอง เป็นปัญหาที่ทุกรัฐบาลตามแก้ไขการแพร่ระบาดของยาเสพติดในระดับชุมชน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลงานด้านความมั่นคง ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา ยาเสพติดเป็นวาระเร่งด่วน ให้ทุกหน่วยหาทางป้องกันปราบปรามยาเสพติดให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

โดยเฉพาะในระดับชุมชน ต้องทำให้เป็นชุมชนเข้มแข็ง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผบช.ภ.1 ที่ชอบลงพื้นที่สัมผัสชุมชน ชาวบ้าน มองเห็นปัญหา สมัยที่เป็น ผบก.ภ.จ.ชลบุรี ทำโครงการ “ปักกลดแก้ไขปัญหายาเสพติด” ในพื้นที่เห็นผลชัดเจน ยาเสพติดในชุมชนลดลง

...

จึงเกิดแนวคิดว่า จะทำให้ยาเสพติดในพื้นที่ บช.ภ.1 ทั้ง 9 จังหวัดลดลง ลูกหลานของชาวบ้านไม่ต้องเป็นทาสยาเสพติด จะได้ช่วยพ่อแม่ทำมาหากินแบ่งเบาภาระ นำหลักการ Commulity Policing มาปรับใช้กับแนวทาง โครงการประชารัฐของรัฐบาล และนโยบาย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ที่ดึงเอาชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้ชุมชนเข้มแข็งด้วยตนเอง ตำรวจจะเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำ ช่วยแก้ปัญหา

พล.ต.ท.อำพล สานต่อโครงการ “ประชารัฐร่วมใจ ต้านภัยยาเสพติด” หรือโครงการ “ปักกลด” ที่เคยทำสำเร็จในจังหวัดชลบุรีมาปัดฝุ่น เพิ่มความเข้ม โดยบูรณาการร่วมกับฝ่ายปกครอง ทหาร สาธารณสุขและท้องถิ่น เสริมการทำงานของตำรวจฝังตัวอยู่ในชุมชนร่วมกับชาวบ้านแก้ไขปัญหายาเสพติด

ระยะเริ่มแรก ให้ตำรวจทุกโรงพักในสังกัดภาค 1 คัดเลือกพื้นที่ชุมชนที่มีปัญหายาเสพติดระดับรุนแรงมากที่สุดมาวิเคราะห์วางแผนในการแก้ไขปัญหา เน้นการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ให้แต่ละโรงพัก ส่งตำรวจ ไปฝังตัวอยู่ในชุมชน กินอยู่หลับนอนในชุมชน พักอาศัยอยู่ในวัดหรือศาลาประชาคมหมู่บ้าน สร้างความสนิทสนม คุ้นเคย ช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องที่เดือดร้อนด้วยความจริงใจ ทำตัวกลมกลืน ให้ชาวบ้านรัก ให้ชาวบ้านมองว่าตำรวจเป็นพวกเดียวกัน เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจพร้อมให้ข้อมูล ขอคำปรึกษา และแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกัน

ตำรวจต้องเดินเคาะบ้าน ลงไปพูดคุยกับชาวบ้าน โดยเฉพาะบ้านหลังที่มีปัญหายาเสพติด ต้องเข้าไปช่วยแก้ไข คอยเป็นพี่เลี้ยง ค้นหาผู้ติดยาเสพติด และส่งตัวเข้าศูนย์คัดกรองเพื่อบำบัดฟื้นฟู หาข้อมูลผู้ค้า และปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด กรณีรายใหญ่ให้รายงานหัวหน้าสถานีขอสนับสนุนกำลัง รวมทั้งออกให้ความรู้เรื่องยาเสพติดและกฎหมายเบื้องต้นแก่ชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ทำให้เด็กๆเห็นพิษภัยของยาเสพติด คอยเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสให้ข้อมูลตำรวจ

ตามแนวทาง “ปักกลด” ตำรวจต้องทำความรู้จักทุกหลัง ทุกครัวเรือน ทำไปเรื่อยๆจนถึงหลังสุดท้ายไปฝังตัว “ปักกลด” ในชุมชนไม่น้อยกว่า 30 วัน ตลอด 24 ชม.

ร่วมกับผู้นำชุมชน ชาวบ้าน ประเมินผลการปฏิบัติร่วมกันว่าชุมชนมีความพร้อมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นชุมชนเข้มแข็งปลอดยาเสพติดหรือไม่ หากประเมินไม่ผ่านลงพื้นที่แก้ไขใหม่ ปรับเปลี่ยนรูปแบบ เปลี่ยนวิธีการ ทำจนกว่าจะผ่าน หากประเมินผ่านมอบพื้นที่ชุมชนเข้มแข็งให้ชาวบ้านดูแลกันเอง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน ก่อนที่ตำรวจจะขยายโครงการไปปักกลดที่ชุมชนอื่นจนครบเป้าหมาย

ผบช.ภ.1 สั่งให้ ผบก. และ ผกก.ในพื้นที่ ลงพื้นที่ไม่ปล่อยให้ลูกน้องทำคนเดียว จะมีการสุ่มตรวจการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผล หาก สภ.ใดไม่สนองนโยบาย มีบทลงโทษ ตำรวจต้องไม่ทำงานแบบเดิมๆ บางโครงการลงพื้นที่ถ่ายภาพรายงานนาย แต่ประสิทธิภาพไม่มี ความสำเร็จไม่เกิด ทำงานแบบนี้ไม่เอา โครงการปักกลดไม่เน้นสร้างภาพ เน้นความสำเร็จของงาน พล.ต.ท.อำพล สั่งเอาจริงเอาจัง ให้ไปคลุกคลี เอาข้อมูล เอาความจริงใจกับชาวบ้าน สามารถร่วมกับชาวบ้านแก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง

...

เน้น “พื้นที่สีแดง” ที่โรงพักเห็นว่ามีปัญหามากที่สุด ให้แก้ตรงนั้นก่อน ผ่านแนวทางประชารัฐของรัฐบาล การมีส่วนร่วมของชุมชน ใครไปทำงานแบบ “ผักชีโรยหน้า” ลงพื้นที่ถ่ายรูปรายงานไม่เกาะติดพื้นที่ เกาะติดปัญหา จะมีบทลงโทษ หากสุ่มตรวจ ถามปัญหาข้อมูลต้องตอบได้ เป็นการทำงานง่ายๆ แต่ชัดเจนของ ผบช.ภ.1 ที่จะลดปัญหายาเสพติด ในชุมชน ผู้บังคับบัญชาจะลงพื้นที่สุ่มตรวจชุมชนเข้มแข็ง ยาเสพติดลดลงจริงหรือไม่

พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผบช. ภ.1 กล่าวกับ “ทีมข่าวอาชญากรรม” ว่า “พื้นที่ ภ.1 เป็นพื้นที่เป้าหมายในการลำเลียงยาเสพติด หลายพื้นที่เป็นแหล่งพักยาก่อนถูกส่งต่อไปที่ กทม.หรือภาคใต้เพื่อส่งออกจำหน่ายในต่างประเทศ การปราบปรามจับคดียาเสพติดรายสำคัญได้หลายคดีและขยายผลยึดทรัพย์ผู้กระทำผิดจำนวนมาก ส่วนการป้องกันยาเสพติดเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้เช่นกัน รัฐบาลและ ผบ.ตร. ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาระดับชุมชนและครอบครัว จึงนำหลักการแนวคิดประชารัฐของรัฐบาล แนวทางการมีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรม ผบ.ตร. และหลักการ Commulity Policing มาปรับใช้ ให้แต่ละโรงพักคัดเลือกพื้นที่ปัญหายาเสพติดรุนแรงที่ต้องเข้าดำเนินการก่อน แล้วส่งตำรวจเข้าไป “ปักกลด” ฝังตัวแก้ปัญหา คอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ ลงพื้นที่เคาะประตูบ้านตั้งแต่หลังแรกจนหลังสุดท้ายในชุมชน”

“พอทราบปัญหาก็ร่วมกับชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันแก้ไข ทำจนแก้ไขปัญหาได้ เรียกโครงการนี้ว่า “โครงการปักกลด” หมายถึง จะอยู่ฝังตัวช่วยเหลือให้ชุมชนเข้มแข็ง ปัญหายาเสพติดลดลง แล้วส่งมอบให้ชุมชนดูแลกันเอง ก่อนขยายไปทำในชุมชนอื่นๆ จนครบเป้าหมาย โครงการนี้เน้นผลสำเร็จของงาน จะวัดที่ผลการประเมินความพึงพอใจของชุมชน ครอบครัว การติดยาของลูกหลานหมดไปหรือลดลงหรือไม่ ไม่ใช่ว่าหมู่บ้านที่ประเมินผ่านโครงการแต่ลูกหลานยังติดยากันเต็ม ตำรวจไม่ทำเต็มที่ แบบนี้ไม่ผ่าน ตำรวจจะทำงานแบบเดิมๆ ไม่ได้ เน้นถ่ายภาพส่งไลน์ รายงานผลการปฏิบัติ รายงานนายอย่างเดียว โดยไม่เกาะติดปัญหา ไม่เกาะติดพื้นที่ไม่ได้ เมื่อลงพื้นที่แล้วต้องทำอย่างจริงจัง ต้อง “ปักกลด” ช่วยชาวบ้านแก้ปัญหายาเสพติดจนหมดไป ทำให้เป็นชุมชนเข้มแข็งตามนโยบายรัฐบาล”

...

โครงการ “ประชารัฐร่วมใจ ต้านภัย ยาเสพติด” หรือโครงการ “ปักกลด” ที่เคยแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ดีสมัยเป็น ผบก.ภ.จ.ชลบุรี ได้ถูก พล.ต.ท.อำพล มาสานต่อเน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนกับตำรวจที่ “ปักกลด” ใช้ชีวิตคลุกคลีชาวบ้าน ร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดทำกันแบบจริงจัง ให้เกิดความยั่งยืน ความสำเร็จวัดที่ความพอใจของประชาชนในพื้นที่ และปัญหายาเสพติดที่ลดลงจริงๆ ตำรวจจะปักกลดในพื้นที่จนกว่าจะแก้ปัญหาได้

ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ บช.ภ.1 อุ่นใจปัญหายาเสพติดลดลง ลูกหลานห่างไกลยาเสพติด.


ทีมข่าวอาชญากรรม