ถอดชนวน...ระเบิดเวลา?

“มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศไทยที่วางไว้อย่างสวยหรู จะเป็นจริงได้หรือแค่ “คติพจน์” ประจำชาติ ณ นาทีนี้ไม่มีใครให้คำตอบได้

แต่ที่แน่ๆการปฏิรูปการศึกษา คือ จุดเริ่มต้นและเป็นกลไกสำคัญในการสานฝัน “พลิกโฉมหน้า ประเทศไทย” ที่สังคมจับตามองและตั้งตารอคอย

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หนึ่งปีผ่านไปไวเหมือนโกหก คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา หรือ กอปศ. ยังไม่สามารถผลักดันแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งเป็นแผนสุดท้ายที่จะไปประกอบกับแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้านได้สำเร็จ แต่ก็ได้นำแผนมากางให้สังคมได้รับทราบในประเด็นหลักที่จะดำเนินการใน 7 เรื่อง ได้แก่

...

1.การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ และกฎหมายฉบับรอง 2.การปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน 3.การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 4.การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ 5.การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 6.การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน และยกระดับคุณภาพการศึกษา และ 7.การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล

แต่ปัญหาขณะนี้คือ ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญทางการศึกษา ที่จะใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศก็ยังผลักดันออกมาไม่สำเร็จ เพราะแม้ผ่านการเห็นชอบในหลักการจาก ครม. แต่ยังอยู่ระหว่างส่งต่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา หากไม่มีการแก้ไขจึงจะนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.พิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป

จนหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความจริงใจของรัฐบาลในการปฏิรูปการศึกษา พร้อมตั้งข้อสังเกตด้วยความห่วงใยว่า หากพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่คลอดออกมาไม่ทันในรัฐบาลนี้ และมีการเลือกตั้งนำไปสู่การมีรัฐบาลชุดใหม่ การปฏิรูปการศึกษาที่ลงทุนทำมาจะสูญเปล่าหรือไม่

ยังดีที่กฎหมายรองอย่าง พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทาง การศึกษา พ.ศ.2561 ที่ตั้งเป้าจะเข้ามาเป็นตัวช่วยในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับเด็กยากจนและด้อยโอกาสในสังคมไทย สามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้นทันตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนด โดยมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 และเป็นความหวังที่จะช่วยโอบอุ้มคนเหล่านี้ให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา

ขณะที่ ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เสนอและส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยรับข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและความเห็นของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณา ก่อนส่งให้ สนช.พิจารณาต่อไป

ประเด็นสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. .... ฉบับ กอปศ. ที่ถูกหยิบยกขึ้นมา คือการกำหนดให้การรับเด็กปฐมวัยเพื่อเข้ารับการพัฒนาในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและสถานศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ โดยวิธีการสอบคัดเลือกจะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท

...

ขยายภาพให้ชัดๆคือ ห้ามสถานพัฒนา เด็กปฐมวัยรวมไปถึงสถานศึกษา จัดสอบเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หากสถานศึกษาใด “แหกกฎ” และถูกร้องเรียน อาจจะถูกลงโทษตามกฎหมายซึ่งโทษปรับสูงสุดถึง 5 แสนบาท

แต่เมื่อผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ปรากฏว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวถูกปรับปรุงแก้ไข โดยกำหนดไว้เพียงหลวมๆว่า “การจัดการเรียนรู้ของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องเป็นไปเพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย แต่ต้องไม่เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการสอบแข่งขันระหว่างเด็กปฐมวัย”

พร้อมทั้งโยนอำนาจหน้าที่ให้ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่จะจัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับเด็กปฐมวัยเข้าศึกษาในระดับอนุบาลและประถมศึกษา เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัยแทน

ด้วยเหตุผลว่าจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย เพราะเมื่อมีการเขียนห้ามและมีบทลงโทษจะส่งผลกระทบถึงภาคปฏิบัติที่ปฏิบัติได้ยาก ทั้งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถห้ามได้ ถือเป็นการ “ปลดชนวน ระเบิด” แบบเฉียดฉิวทิ้งท้ายปี 2561

...

หันมาทางแวดวงการศึกษาในระดับอุดมศึกษากันบ้าง ปี 2561 เป็นปีแรกของการใช้ระบบการสอบคัดเลือกใหม่ที่เรียกกันว่า ระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ระบบทีแคส ที่แบ่งการรับเป็น 5 รอบ รอบที่ 1 รอบแฟ้มสะสมผลงาน รอบที่ 2 รอบโควตา รอบที่ 3 รอบรับตรง ร่วมกันรอบที่4 รอบแอดมิชชันกลาง และรอบที่ 5 รอบรับตรงอิสระ

ปรากฏว่าการรับสมัครในรอบที่ 1 และรอบที่ 2 ภาพรวมฉลุย แต่เมื่อมาถึงรอบที่ 3 ซึ่งเป็นรอบรับตรงร่วมกันปัญหาก็เกิด เริ่มจากเว็บไซต์รับสมัครล่ม จากนั้นเมื่อประกาศผลก็พบชื่อเด็กเก่งติดหลายคณะพร้อมกัน ส่งผลให้ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. นำโดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะประธาน ทปอ. ต้องออกมาแถลงข่าวน้ำตาคลอเบ้าขอโทษ

ก่อนที่จะดำเนินการเคลียร์ริ่งเฮาส์เป็นรอบที่สองพร้อมล้อมคอกสกัดทีแคส ปี 2562 ป่วน ด้วยการจัดทำคู่มือทีแคสสำหรับนักเรียนหรือผู้สมัคร โรงเรียนและครูแนะแนว รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษา ทั้งเปิดตัวเว็บไซต์ Mytcas.com เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับทีแคส 2562 แบบครบวงจร ซึ่งก็ต้องคอยลุ้นกันว่าระบบไอทีจะรวนเป็นเหตุให้บิ๊ก ทปอ. ปวดหัว ในขณะที่นักเรียนและผู้ปกครองก็ปวดใจจนต้องแห่มาร้องเรียนเหมือนปีที่ผ่านมาหรือไม่

...

ตามมาด้วยเรื่องที่ “เผาหลอก” เมื่อปีที่แล้ว แต่ปี 2562 จะกลายเป็น “เผาจริง” จนมหาวิทยาลัยเริ่มถกกันอย่างจริงจัง ในการประชุม ทปอ. นัดส่งท้ายปี 2561 คือปัญหาจำนวนนิสิต นักศึกษา ที่ลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย ถึงขั้นมีการตั้ง คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษา ขึ้นมาปฏิรูปหลักสูตร เพราะมองว่าเด็กรุ่นใหม่มีความรักอิสระ สนใจที่จะศึกษาเรียนรู้จากเทคโนโลยีมากกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัย

มีตัวเลขที่ยืนยันจากการรับสมัครทีแคส ปี 2561 ที่มีจำนวนผู้สมัครน้อยกว่าจำนวนที่มหาวิทยาลัยเปิดรับ ขณะที่ผลการรับสมัครทีแคส 2562 พบว่ามีผู้มาลงทะเบียนในระบบ 262,474คน ในขณะที่มีที่นั่งเรียนสามารถรับได้ถึง 390,120 คน เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องเตรียมพร้อมรับมือ

อีกเรื่องที่ต้องจับตามอง คือ การจัดตั้ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... และร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ (สนช.) แบบเส้นยาแดงผ่าแปด เมื่อปลายเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งศ.นพ.
อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ ผู้รับหน้าที่จัดตั้งกระทรวงใหม่ ระบุว่า ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็ปที่รัฐบาลวางไว้

แน่นอนเมื่อกระทรวงใหม่เกิดขึ้นมา สิ่งที่จะต้องดำเนินการคือการ “จัดทัพ” บุคลากร ซึ่งเป็นการหลอมรวมคนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน

ซึ่งเป็นความท้าทายของรัฐบาลในการจัดวางคนเข้าสู่ตำแหน่งใหม่

ส่งท้ายปีจอด้วยเรื่องวุ่นๆในรั้วมหาวิทยาลัยกับ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ที่ระบุให้นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ซึ่งถูกตีความว่าเป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

เป็นเหตุให้นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่งแสดงเจตจำนงสละเก้าอี้ทิ้งตำแหน่ง เพราะไม่ต้องการยื่นบัญชีทรัพย์สิน โดยให้เหตุผลในทิศทางเดียวกันว่า “มีรายละเอียดและความยุ่งยาก หากเกิดข้อผิดพลาดเกรงจะมีโทษทางอาญา ไม่อยากติดคุกตอนแก่”

จนในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ต้องงัดมาตรา 44 แก้ไขกฎหมายลูก ป.ป.ช. รีเซตนิยามผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ส่งผลให้นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เป็นการจบปัญหาแบบง่ายๆปานพลิกฝ่ามือ

ท่ามกลางการคัดค้านของ ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ CHES เปิดที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง (ทป.มรภ.) และ กลุ่มส่งเสริมธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัย (สธม.) ที่ยังเรียกร้องยืนยันให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบทรัพย์สินของนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ตามประกาศเดิม เพราะถือว่าเป็นผู้มีส่วนกำหนดนโยบายและอนุมัติงบประมาณของมหาวิทยาลัย

สารพัดปัญหาที่เข้าขั้นวิกฤติ ไม่ต่างจาก “เผือกร้อน” รับปี 2562 ที่ “ทีมการศึกษา” มองว่าล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่สั่นคลอนงานการศึกษาชาติ แม้บางเรื่องจะได้รับการ “ปลดชนวน” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ว่าชนวนที่ปลดนั้น ผิดเส้น ผิดสาย หรือมีเชื้อที่รอการปะทุหรือไม่

ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องลุ้นกันว่าปี “หมูไฟ” 2562 จะสามารถ “ปลด ชนวน” ได้ทันกาล หรือปล่อยให้เป็น “ระเบิดเวลา” ทำลายล้างความหวัง ของชาติในอนาคต!!!

ทีมการศึกษา