Credit : NASA
ดาวฤกษ์ที่กำลังจะตายลงในดาราจักรหรือกาแล็กซีที่ห่างไกลจากโลกของเรา เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เฝ้ามองมาเป็นเวลานาน ซึ่งการศึกษาเหตุการณ์เหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่มุ่งไขความลับกระบวนการระเบิดของดาวฤกษ์ ล่าสุดทีมวิจัยนานาชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ในออสเตรเลีย ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์และกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดิน เก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่ดาวฤกษ์กำลังจะตาย เป็นการสังเกตการณ์อย่างไม่เคยมีมาก่อน
ทีมวิจัยเผยว่าการสำรวจเมื่อช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา กล้องโทรทรรศน์ทรงพลังเหล่านี้ได้ตรวจพบแสงจากการระเบิดของดาวฤกษ์หรือเรียกว่าซุปเปอร์โนวาที่ชื่อ SN 2018oh โดยช่วงนั้นกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ก็ใกล้จะหมดเชื้อเพลิงเต็มที แต่ก็ทันสังเกตพบการเปลี่ยนแปลงของแสงสว่างจากการระเบิดช่วงต้นของดาวฤกษ์ ขณะที่กล้องโทรทรรศน์จากภาคพื้นดินก็พบการเปลี่ยนแปลงของสีและอะตอมที่เกิดขึ้นจากดาวฤกษ์ที่กำลังจะตาย เช่นกัน ทั้งนี้ ซุปเปอร์โนวา SN 2018oh ตั้งอยู่ใน กาแล็กซีชนิดก้นหอยที่เรียกว่า UGC 4780 ในกลุ่มดาวปู ระยะทางห่างมากกว่า 170 ล้านปีแสง
ทีมวิจัยอธิบายว่า SN 2018oh เป็นตัวอย่างของซุปเปอร์โนวาชนิด 1a (Type 1a supernova) ซึ่งเป็นชนิดที่นักดาราศาสตร์ใช้ในการวัดการขยายตัวของจักรวาลและสำรวจลักษณะของพลังงานมืด โดยซุปเปอร์โนวาชนิด 1a แบบปกติ จะสว่างขึ้นในช่วง 3 สัปดาห์ก่อนที่จะค่อยๆจางหายไป ทว่าซุปเปอร์โนวา SN 2018oh มีการส่องสว่างอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วันหลังจากการระเบิดครั้งแรกประมาณ 3 เท่า ซึ่งเร็วกว่าซุปเปอร์โนวาทั่วไปในช่วงเวลาเดียวกัน.