มาว่ากันต่อกับเวทีเสวนา “ปาล์มน้ำมัน จากพืชเพื่อการบริโภค สู่พืชพลังงาน” จัดโดย พรรคภูมิใจไทย เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา...วันวานได้ทิ้งท้ายไว้ ข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหา ด้วยการนำระบบแบ่งปันผลประโยชน์แบบอ้อยและน้ำตาลมาใช้กับปาล์มน้ำมัน

เพราะอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันมีมูลค่า 200,000 ล้านบาท เกษตรกรมีส่วนร่วมในผลประโยชน์แค่ 30%...อีก 70% ตกไปอยู่ในมือโรงสกัดไบโอดีเซลและพลังงานไฟฟ้า

จะให้เกษตรกรอยู่รอดได้น่าจะกลับตัวเลขกัน...ให้เกษตรกรได้ประโยชน์ 70% โรงงานรับไป 30%

นี่ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันเกินจริง โรงงานผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันปาล์มใน จ.กระบี่ ได้ทำสำเร็จมาแล้ว มีการเอาน้ำมันปาล์มดิบผสมกับน้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า...แต่ผลผลิตจากปาล์มน้ำมันนำมาผลิตไฟฟ้าไม่ได้มีแค่น้ำมันจากผลปาล์ม 17-18% เท่านั้น

ยังมีทะลายปาล์ม ใบปาล์ม ส่วนเหลือทิ้งอื่นๆที่นำไปป้อนให้โรงงานไฟฟ้าได้อีก...ถ้านำมาคิดเป็นมูลค่า ตีเป็นราคา ส่วนแบ่งเหล่านี้จะถูกปันเป็นรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร

หลายคนอาจมองว่า คงเป็นไปได้ยาก จะมีโรงไฟฟ้าสักกี่แห่งที่ทำได้ เพราะต้นทุนผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำมันปาล์มมีราคาสูง รัฐจะสนับสนุนให้คนใช้ไฟฟ้าแพงได้อย่างไร

เชาวลิต ศุภนคร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พีพีพี กรีนคอมเพล็กซ์ ชี้ให้เห็นต้นทุนไม่ได้แพงอย่างที่เข้าใจกัน...ไฟฟ้าพลังน้ำมีต้นทุนหน่วยละ 4.90 บ. พลังงานลม 6.06 บ. พลังงานแสงอาทิตย์ 5.66-6.85 บ. ไฟฟ้าจากพลังงานขยะ 5-6.30 บ. ชีวมวล 4.24-5.34 บ. ก๊าซชีวภาพ 3.76 บ. ส่วนปาล์มน้ำมัน ต้นทุนอยู่ที่ 5.27 บ.

หากมีโรงไฟฟ้าเช่นนี้เกิดได้ทั่วไป ไม่เพียงจะแก้ปัญหาเรื่องภาคใต้มีไฟฟ้าไม่พอได้แล้ว ยังแก้ปัญหาราคาปาล์มได้ไปในตัว

รูปแบบการจัดแบ่งผลประโยชน์แบบนี้ทำกันแล้ว แต่น่าเสียดายราชการไทยยังคิดตามไม่ทัน ตอนนี้จึงยังไม่มีกฎหมายใดมารองรับ...เลยไม่แน่ใจว่า จะสามารถนำมาใช้เป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆได้แค่ไหน.

...

สะ–เล–เต