“PISA” ไทย (โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ) ใคร? ที่ว่าไม่ได้เรื่อง ห่วย ต่ำเตี้ยติดดินสู้ประเทศอื่นไม่ได้ คงต้องหันมาช่วยกัน...กู้วิกฤติคืนศรัทธาให้คืนกลับมาให้จงได้
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ย้ำอยู่เนืองๆว่า การปฏิรูปการศึกษาหัวใจสำคัญที่ต้องไม่ลืมก็คือ...เราจะต้องปฏิรูปด้วยความรัก
“ตอนนี้คนในกระทรวงเข้าใจแล้วเรื่อง PISA แต่ต้องทำความเข้าใจให้กับคนนอกด้วย คือมีกระแสเป็นระยะๆรวมทั้งเร็วๆนี้ชอบเอาข้อมูล PISA มาโจมตีกัน โดยคนที่เป็นนักวิชาการขาประจำ เช่น คุณไกรยส คุณภูมิศรัณย์ และนักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ...ประเด็นสำคัญคือข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ไม่ตรงกับที่ผมวิเคราะห์และกับของ OECD...องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ทำให้เป็นการให้ร้ายประเทศไทย”
วันนี้มีการสัมมนาใหญ่ในเรื่องนี้ ประธาน OECD ที่เป็นคนจัดสอบ PISA ผู้อำนวยการ สสวท.ก็มาร่วมอยู่ด้วยเป็นประจักษ์พยานมาร่วมพูดคุยกัน ช่วยกันคิดวิเคราะห์ด้วยสมองของนักวิชาการ
“สาธารณชนอาจจะไม่เข้าใจว่า PISA คืออะไร...เป็นการจัดสอบการเอาความรู้วิทย์ คณิตฯ และทักษะการอ่านไปใช้ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายไปเทียบประเทศต่อประเทศทีเดียวนักเพราะไม่ได้เทียบกันได้โดยตรง แต่สิ่งที่อยากให้เทียบคือให้เราเทียบกันเองประเมินสมรรถนะการรู้เรื่อง ประเด็นต่อมา...ผลคะแนนมีอิทธิพลหลายอย่าง”
เรามักจะโจมตีกล่าวหากันว่า “ประเทศเราการศึกษาล้าหลังเพราะ PISA ที่โหล่ในอาเซียน อยากจะชี้ให้เห็นว่าในอาเซียนประเทศที่ร่วมจริงๆมีอยู่ 5 ประเทศ ในรอบที่ชอบเอาคะแนนมาอ้างในปี 2015 ก็มี...สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม”
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “สิงคโปร์” ได้ที่หนึ่งของโลกโดยคะแนนเฉลี่ยทั้งประเทศ หันมาดูตัวเลขของไทยเราชนะอินโดนีเซียค่อนข้างมาก เราดูเหมือนว่าแพ้เวียดนาม แต่จะอธิบายให้ฟัง แล้วในแต่ละประเทศที่เข้าร่วมแม้กระทั่ง “จีน” เขาก็เข้าบางมณฑล บางจังหวัด อย่างเซี่ยงไฮ้...ก็ไม่ได้เปรียบเทียบในเชิงประเทศเสียทีเดียว
...
“วันนี้ไม่ได้มาแก้ตัว แต่จะบอกตามผลวิเคราะห์ให้ได้รู้...ผมเห็นถูกอยู่เรื่องเดียวคือมีความเหลื่อมล้ำของคะแนน PISA แต่ตรงนั้นใช่จะสะท้อนว่าคุณภาพการศึกษาของเราวิกฤติ เป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง เพราะว่าประเด็นสำคัญ...การศึกษามีมากกว่าเรื่องนี้”
ข้อต่อมา...การที่เราเข้าร่วม มีเรื่องปัจจัยอายุ ที่ผ่านมาเขาขอเด็กอายุ 15 ปีเข้าทดสอบ คนต่างชาติหรือคนเข้าร่วมส่วนใหญ่ก็จะเอาเด็กที่เวลานับอายุ 15 ปี ก็จะเอาคนที่อายุใกล้ 16 ปี ส่วนของเราเอาเด็ก ม.3 ส่วนใหญ่เด็กเราระดับนี้ก็อายุ 14 ปีกว่าๆเท่านั้น หรือ 15 ปีก็ต้นๆ... มาปีนี้จะปรับเปลี่ยนกันใหม่ เอาเด็ก ม.4 เข้าสอบ และการสุ่มกลุ่มตัวอย่างที่เดิมทีสุ่มตามสังกัด ซึ่งก็ชัดเจนว่าจะสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
หลายอย่างเช่นที่ได้คะแนนต่ำๆในโรงเรียนขยายโอกาส มีการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ถือว่าน้อย...ครูก็ไม่พอ ในเวียดนามเองเขาก็เอาโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนจริงๆเข้าสอบ ส่วนของเราโรงเรียนในกลุ่มโรงเรียนสอนศาสนาก็ถูกสุ่มเข้าไปสอบด้วย
ทั้งหมดเหล่านี้ OECD ก็รับทราบ ปีนี้รับปากว่าจะไม่เอามาคิดคะแนนเพราะรู้แล้วว่าเป็นการบิดเบือน ที่สำคัญ...เด็กไทยเป็นเด็กดีถึงเวลาเข้าสอบก็สอบกันหมดเลย มาเลเซียพบว่าไม่เข้าสอบเกิน 20% ก็เลยถูกจับแพ้ฟาวล์ไม่นับคะแนน ฉะนั้น...เราไม่ได้แพ้มาเลเซีย เราแพ้เวียดนามในแง่เฉลี่ย
แต่...ถ้าเอาเด็กที่อยู่ในระดับโรงเรียนเดียวกันเราไม่ได้แพ้
นพ.ธีระเกียรติ ยกตัวอย่างชัดเจนคะแนนโรงเรียนจุฬาภรณ์ฯ โดยคะแนนเฉลี่ยเริ่มต้นเท่า OECD แล้ว สูงสุดเฉลี่ยทั้งกลุ่มอยู่ในระดับที่สอง...ที่สามของโลก แพ้สิงคโปร์นิดเดียว
“คนที่ได้คะแนนสูงสุดของเราชนะสิงคโปร์เฉลี่ยคือโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยทั่วไปกลุ่มของวิทยาศาสตร์ทำได้ดีหมด นั่นแสดงว่าเรามีศักยภาพ เรารู้ว่าควรจะสอนวิทยาศาสตร์อย่างไร ไม่ได้ล้าหลัง...เป็นเรื่องของปัจจัยต่างๆ แต่ในภาพรวมทั้งหมดเราส่งโรงเรียนตามชายขอบก็เข้า เอาหมด เด็กดี...เขาบอกให้สอบก็สอบ”
เด็กๆถูกบอกให้สอบก็อาจจะไม่รู้ว่าคืออะไร ครูบอกให้สอบก็สอบ นี่คือสองประเด็นที่เป็นความจริงที่ไม่ได้เป็นการแก้ตัว ต่อเนื่องมาถึงประเด็นที่สาม...คือ เรื่องภาษาการอ่าน
“PISA ตัวภาษาอังกฤษเองออกข้อสอบโดยนักวิชาการ คนอังกฤษเองยังบอกว่าอ่านแล้วก็ยังงงๆต้องอ่านซ้ำ พอแปลเป็นไทยแปลไม่ผิดแต่เป็นการใช้ภาษาวิชาการเป็นการแปลจากอังกฤษไม่อยากจะเรียกว่าเทียบเคียงได้กับกูเกิลทรานสเลชัน ยังไม่ถึงขนาดนั้นดีกว่า แต่เด็กไทยอ่านแล้วยาก”
ตรงนี้ นักวิชาการดู นพ.ธีระเกียรติ ก็ดู รวมทั้งใครต่อใครมาดูก็พบว่าตรงนี้คือปัญหาใหญ่ แล้วก็พบด้วยว่าจุดที่เราควรจะได้คะแนนดีขึ้นนิดหน่อยก็พบว่าเขาสอบโดยคอมพิวเตอร์ เราก็เสียเปรียบอีก เยอรมันเองก็ยังคะแนนตก สรุปก็คือว่า...ที่เอามาโจมตีกัน แล้วก็วิเคราะห์แบบให้ร้าย โดยไม่เข้าใจว่าที่มาของคะแนนเป็นอย่างไร
ซ้ำร้าย...ยังอ้างว่าตัวเองนั้นเข้าใจ เป็น “นักวิชาการ” ที่ถือว่าเป็น “นักวิชาการ” ที่ไม่ดูหลักฐานให้ครบถ้วน แล้วก็ไม่ดูด้วยว่าเรามีการเตรียมตัวยังไง “นี่คือเกมนานาชาติที่เราต้องเล่น เป็นการประเมินที่มีผลต่อการรับรู้ว่าประเทศเรามีศักยภาพยังไง เราก็ต้องเล่นเกมนี้ให้ดี ก็ต้องมีการเตรียมตัว สสวท.เป็นผู้รับผิดชอบหลัก กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้นำไปปฏิบัติ ทั้งคู่ขณะนี้มีหน่วย PISA ทั้งคู่ประสานงานกันได้ดีขึ้น”
ปีนี้เป็นปีแรกที่เราเจรจาจนสำเร็จ...กลุ่มตัวอย่างเราจะไม่เอากลุ่มตัวอย่างที่อยู่ตามชายขอบหรือที่ยังไม่ค่อยดีนักก็อย่าไปนับคะแนน แต่ก็จะเข้าร่วมสอบด้วยเพื่อจะได้รู้ของเราเอง ไม่ได้ต้องการเลี่ยงการประเมิน
ถึงตรงนี้ให้รู้เอาไว้ให้ชัดเจนโดยทั่วกันว่าปีนี้จะเป็นปีแรกที่เราเอาเด็ก ม.4 เข้าสอบ และก็เป็นปีแรกที่ นพ.ธีระเกียรติ ไปพบกับผู้อำนวยการโรงเรียนทั้งหมดเพื่ออธิบายถึงความสำคัญการสอบประเมินผล PISA ซึ่งก็ได้รับคำกล่าวสะท้อนกลับมาว่า...เมื่อก่อนไม่มีใครมาพบเขามีแต่เจ้าหน้าที่ลงไปปฏิบัติแล้วก็บอกให้เขาสอบ
...
และปีนี้เป็นปีแรกเหมือนกันที่มีการโวยวายเรื่องภาษาแต่ต้องผ่านไปเอาไว้คราวหน้าที่จะต้องแก้ให้เป็นภาษาไทยที่อ่านง่ายและเป็นครั้งแรกที่ลงทุนเป็นจำนวนมากโดย สพฐ.ให้มี PISA แพลตฟอร์มร่วมกับ มจธ.ธนบุรี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทำคลังข้อสอบ PISA เป็นการลงทุนไปเยอะ เพื่อพัฒนาศักยภาพให้คุ้นเคยกับข้อสอบ PISA
คลังข้อสอบเหล่านี้จะใช้งานผ่านระบบออนไลน์ให้ทุกคนได้ใช้ ที่สำคัญ...การเตรียมสอบไม่ได้เตรียมกันที่ ม.3 หากแต่ต้องมีวิธีคิดตั้งแต่เด็ก ถอยลงมาทำตั้งแต่เด็กเป็นต้นไป สสวท.เปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ให้เป็นแนว PISA มากขึ้น เกือบจะสมบูรณ์แบบแล้ว ถึงตรงนี้ถามกันจริงๆ ด้วย “หัวใจ” คนไทยด้วยกัน หากจะ “ปฏิรูปการศึกษาด้วยรัก” ก็ต้องมาคุยกัน คุยกับเราก่อน...เอาเรื่องไม่ดีไปพูดเพื่อให้ตัวเองดูดี รู้แล้วประเทศไทยมีปัญหาอะไร...
การตีความผิดๆไม่ได้เป็นผลดีต่อประเทศชาติ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เราเอามาประจานกันเอง
“ผมรักการศึกษา รักการปฏิรูปการศึกษา...มาพูดกันอย่างนี้เสมือนคุณไม่ได้รัก ถ้ารักต้องเข้ามาช่วยกันคิดแก้ไข มาเสนอทางออก ไม่ใช่ว่าจะมาเสนอให้รื้อทั้งระบบ เพื่อจะเปลี่ยน PISA ปฏิรูปด้วยรัก ผมรู้ว่าคุณคิดยังไง”
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ทิ้งท้ายว่า วิธีคิดเช่นนี้ เปรียบดั่ง...บ้านเรามีปัญหาอยู่บางจุดแล้วบอกให้รื้อบ้านทิ้ง คุณเพี้ยนหรือเปล่า? แล้วทำได้ไหม?
“ปฏิรูปการศึกษา”...“ปฏิรูปด้วยรัก”...ใครจะรักใคร ใครไม่รักใคร สุดท้ายปลายทางคงจะพิสูจน์ความจริงจาก “หัวใจ” ให้สังคมได้รู้เช่นเห็นชาติ.