หวั่นคนนอกที่เป็นนายกฯ กรรมการสภา ตบเท้าลาออก

กฎหมาย ป.ป.ช.ให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินพ่นพิษ เหล่าอธิการบดีมหาวิทยาลัยประสานเสียงคัดค้าน หวั่นส่งผลกระทบกรรมการสภามหาวิทยาลัยจ่อตบเท้าลาออกก่อนมีผลบังคับ 1 ธ.ค.นี้ ที่ประชุมอธิการบดี ทั้ง ทปอ.ใหญ่ ราชภัฏ ราชมงคลเตรียมถกหาทางออกด่วน 7 พ.ย.นี้ ห่วงปัญหาลุกลามสภามหาวิทยาลัยกลายเป็นสุญญากาศ เล็งยื่นหนังสือประธาน ป.ป.ช.ขอทบทวนประเด็นปัญหาเร่งด่วน ด้าน “วันชัย” อัดตัดสินใจผิดพลาด ส่วน “สมชัย” เชื่อบอร์ดสภามหาวิทยาลัยร่อนใบลาออกอื้อ ประท้วงกฎเหล็ก ป.ป.ช.แน่

ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2561 ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับหลังวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน หรือวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ที่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามประกาศฉบับนี้ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งพบว่าในข้อ 7.8.7 กำหนดให้กรรมการและผู้บริหารสูงสุดในสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ทั้งนายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี กรรมการสภามหาวิทยาลัย ต้องปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ด้วยนั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พ.ย. นายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน ในฐานะประธานที่ประชุม 9 อธิการบดี มทร. เปิดเผยภายหลังการประชุม 9 อธิการบดี มทร.ว่า ที่ประชุมได้หยิบยกกรณีที่ ป.ป.ช.ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ขึ้นมาพิจารณา โดยอธิการบดีแต่ละแห่งต่างเป็นห่วงต่อกรณีที่ ป.ป.ช.กำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย รวมถึงคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำให้นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย สายผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่ง มทร.แต่ละแห่งมีจำนวน 15 คน ส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน

...

ต่างแสดงความจำนงที่จะขอลาออกจากการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยากที่จะต้องมายื่นบัญชีทรัพย์สิน เพราะการเข้ามานั่งเป็นนายกสภา หรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยเข้ามาด้วยใจ ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรอยู่แล้ว และที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ากว่ามหาวิทยาลัยจะทาบทามขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้เข้ามาช่วยงานมหาวิทยาลัยด้วยการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ถือเป็นเรื่องที่ยากมาก และบุคคลเหล่านี้ก็เข้ามาช่วยงานด้วยความเสียสละ มีค่าตอบแทน อย่างมากก็แค่เบี้ยประชุมในแต่ละครั้งเพียงไม่กี่บาท หากแต่ละคนต้องลาออกไปเพียงเพราะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และที่ประชุม 9 อธิการบดี มทร.เองก็เกรงว่าหากนายกสภา หรือกรรมการสภาต่างตบเท้าลาออกกัน สภา มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็จะกลายเป็นสุญญากาศไม่สามารถทำงานต่อไปได้จะกลายเป็นปัญหาต่อการ บริหารงานของมหาวิทยาลัยในที่สุด

อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวอีกว่า จากผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้เองที่ประชุม 9 อธิการบดี มทร.จึงมีมติให้ออกหนังสือถึงประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อขอให้ทบทวนการกำหนดตำแหน่งนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวอาจส่งผลต่อการสร้างภาระหน้าที่ให้กับนายกสภา และกรรมการสภามหาวิทยาลัย เกินสมควร จนอาจลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่ได้ ทั้งนี้คาดว่าที่ประชุม 9 อธิการบดี มทร.จะยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาทบทวนในเรื่องนี้ได้ในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอธิการบดี รองอธิการบดี และกรรมการสภามหาวิทยาลัยสายข้าราชการประจำ อีก 14 คน ยินดีที่จะยื่นบัญชีทรัพย์สินตามที่ ป.ป.ช.กำหนด

ด้านนายเรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) 38 แห่ง กล่าวว่า ทปอ.มรภ.ได้หารือกันในเรื่องดังกล่าว และรู้สึกกังวลใจมาก เราเชื่อว่าระบบสภามหาวิทยาลัยที่มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเข้ามาช่วยให้ข้อเสนอแนะทางวิชาการเพื่อเกิดประโยชน์ในการบริหารงานมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่ดี กรรมการสภามหาวิทยาลัยสายผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ได้รับเงินเดือน ไม่สามารถให้คุณให้โทษใครได้ ดังนั้นเมื่อถูกกำหนดให้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน จึงรู้สึกไม่สะดวกใจ ไม่ใช่ไม่สะดวกใจที่จะยื่นแต่เกรงว่าความยุ่งยากในการยื่นอาจจะเกิดข้อผิดพลาดจนกลายเป็นปัญหาตามมาในอนาคตได้ ขณะนี้ได้รับแจ้งจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยในบาง มรภ.มีการส่งสัญญาณที่จะขอลาออกบ้างแล้ว อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นทาง ทปอ.มรภ.จะทำหนังสือขอให้ ป.ป.ช.ทบทวนเรื่องนี้ และวันที่ 7 พ.ย.นี้ ทปอ.มรภ.จะหารือกับ ทปอ.มทร. และ ทปอ.ใหญ่ เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป

ส่วนนายวันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะตำแหน่งนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีหน้าที่ร่วมกำหนดนโยบายส่งเสริม สนับสนุนการบริหารงานมหาวิทยาลัย ไม่ได้มีอำนาจโดยตรงในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายอธิการบดี คณบดี ซึ่งมีกระบวนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.แต่ละมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว และเชื่อว่าทุกมหาวิทยาลัยก็คัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาร่วมในสภามหาวิทยาลัยมาอย่างดี คงไม่มีที่ไหนนำคนไม่ดีหรือหวังผลประโยชน์เข้ามาร่วม และเชื่อว่านายกสภาฯและกรรมการสภาฯ แต่ละคนคงไม่ได้รู้สึกไม่พอใจที่จะแสดงบัญชีทรัพย์สิน เพียงแต่กระบวนการวิธีการที่อาจจะทำให้เกิดความยุ่งยาก ลำบาก ยิ่งต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดของคู่สมรสด้วย เพราะบางคนทำธุรกิจหรือมีหุ้นบางส่วนที่อาจซื้อไว้โดยไม่ได้จดบันทึกทั้งหมด อาจหลงลืมแล้วเมื่อมาตรวจสอบภายหลังแล้วมีความผิด ก็คงไม่อยากให้เกิดปัญหา เรื่องนี้ก็ต้องเข้าใจ ป.ป.ช.ที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แต่ข้อกำหนดตามกฎหมายก็ต้องขึ้นอยู่กับความถูกต้องและความชอบธรรมในสังคมด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเรื่องนี้คงต้องให้ประธาน ทปอ.ทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏ และราชมงคล รวมถึงอธิการบดีที่เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าไปหารือและชี้แจงให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารผู้บังคับบัญชาได้รับทราบถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น

ขณะที่นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ประเด็นนี้ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้พูดคุยกันพอสมควร แต่ขณะนี้ยังไม่มีนายกสภามหาวิทยาลัย หรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่งใดแสดงความกังวลและขอลาออกจากกรณีนี้ ทปอ.ตระหนักดีว่าเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สิน เป็นข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญและกฎหมายของ ป.ป.ช. ที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติ แต่เราอยากจะวิเคราะห์ให้รอบด้าน และแสดงความคิดเห็นในเชิงวิชาการ ขอยืนยันว่าขณะนี้ ทปอ.ยังไม่ดำเนินการใดๆ

...

วันเดียวกัน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร รักษาการแทนคณบดี สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ประกาศ ป.ป.ช.เรื่องการให้เจ้าหน้าที่รัฐบางตำแหน่งต้องแจ้งทรัพย์สินแก่ ป.ป.ช. ครอบคลุมตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นตำแหน่งเชิงนโยบายกำกับการทำงานของอธิการบดี อีกที ความเหมาะสมเรื่องดังกล่าวคือ สามารถบอกชาวโลกได้ว่า ประเทศเราโปร่งใส ตำแหน่งที่แค่กำกับนโยบายยังบังคับให้แจ้งทรัพย์สิน ดูดีที่ไปสื่อสารกับชาวโลก

แต่กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งคือ ผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากการทำงานประจำ บางท่านสูงอายุ แต่มากด้วยประสบการณ์ปรารถนาช่วยสร้างความเจริญให้มหาวิทยาลัย จึงมาเป็นกรรมการ สภาด้วยเบี้ยประชุมไม่กี่พันบาท ไม่มีสิทธิพิเศษ ไม่มีทีมงาน ไม่มีเลขาฯ ส่วนตัวมานั่งกรอกบัญชีทรัพย์สินไม่ว่าจะมากหรือน้อย หากแจ้งไม่ครบ เช่น ยืมเพื่อนมาแต่มาโชว์ให้คนอื่นเห็นก็เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยแก่สังคม โดยมีเวลา 30 วันหลังจากประกาศ ป.ป.ช.หากไม่ยื่นต้องลาออก เชื่อว่าวันนี้ใบลาออกของกรรมการสภามหาวิทยาลัยเกินกว่าครึ่งของกรรมการสภาทุกมหาวิทยาลัยคงพิมพ์เสร็จแล้ว เพื่อยื่นก่อนสิ้นเดือน พ.ย. เป็นการลาออกที่ไม่ใช่หนีการตรวจสอบ แต่เพราะรำคาญระบบที่ถูกสร้างขึ้นโดยไม่จำเป็น