อภ.สุดเจ๋งผลิตยาเอดส์ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก WHO เป็นแห่งแรกของอาเซียนหลังใช้เวลาพัฒนายาวนานกว่า 16 ปี ลั่นพร้อมส่งยาโกอินเตอร์ขายต่างประเทศ ชี้ช่วยชาติประหยัดงบจำนวนมาก แถมเพิ่มโอกาสรักษาผู้ป่วยทั้งในไทยและอาเซียน เผยยาดีมีคุณภาพราคาถูก เล็งขยายโรงงานผลิตเฟส 2

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่โรงงานผลิตยารังสิต 1 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นพ.โสภณ เมฆธน ประธานองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ยาเอฟฟาไวเรนส์ (Efavirenz Tablets) 600 มิลลิกรัม ของ อภ. เป็นยารายการแรกของประเทศไทย และเป็นประเทศ เดียวในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน สากล WHO Prequalification Program (WHO PQ) จากองค์การอนามัยโลก ได้ขึ้นบัญชียาดังกล่าวไว้ในบัญชียาขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อให้หน่วยงานหรือองค์กรสาธารณสุขนานาชาติจัดซื้อยาจากผู้ผลิตที่ได้ผ่านกระบวนการตรวจรับรองที่เข้มงวดนี้แล้วเท่านั้น เช่น กองทุนโลก ยูนิเซฟ ที่ทำหน้าที่จัดซื้อยาให้กับประเทศสมาชิกที่ต้องการ หรือประเทศที่ด้อยโอกาส การรับรองนี้ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาเป็นสากลที่ทั่วโลกยอมรับ เพื่อเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความปลอดภัย มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ เพราะยาตัวนี้เป็นตัวแรกที่ให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกรายตั้งแต่ตรวจพบเชื้อในร่างกาย ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อประมาณ 8 หมื่นราย และขณะนี้เตรียมพัฒนาโรงงานผลิตยารังสิตเฟส 2 มูลค่า 5.6 พันล้านบาท อยู่ระหว่างเปิดซองผู้รับเหมา คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ใน ม.ค.2562

ด้าน ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รอง ผอ.อภ.กล่าวว่า เราพยายามมานานกว่า 16 ปี จนสามารถพัฒนาและนำยาตัวนี้ผ่านมาตรฐานของ WHO มาตรฐานเทียบเท่ายาต้นแบบ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาดี มีคุณภาพจากเมื่อก่อนที่ยังไม่สามารถผลิตได้เองทำให้ราคาสูงกว่า 1 พันบาทต่อขวด และเมื่อ อภ.ผลิตได้เองทำให้ราคาลดลงเหลือเพียง 180 บาทต่อขวด ทั้งนี้ หลังได้รับการรับรองแล้วเมื่อกองทุนต่างๆ ที่จะซื้อยาจะเข้าไปดูรายชื่อบริษัทว่ามีบริษัทใดบ้างที่ได้รับการรับรองจาก WHO และติดต่อให้ไปร่วมประมูลยา ล่าสุด ไทยได้รับการติดต่อจากประเทศแถบทะเลแคริบเบียนให้เข้าร่วมการประมูล เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่ประเทศฟิลิปปินส์ขอให้ไทยเข้าไปขึ้นทะเบียนยาให้ เพราะมีความเชื่อมั่นในคุณภาพยา ของไทย ดังนั้นจึงอยู่ระหว่างดำเนินการ จะมีมูลค่าสั่งซื้อเพิ่มราว 51 ล้านบาท นอกจากนี้ ยาของ อภ.ยังสามารถขึ้นทะเบียนได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องผ่านกระบวนการ อย.ปกติของแต่ละประเทศ เพราะใช้ข้อมูลการรับรองของ WHO ได้เลย ขณะนี้ยังได้ส่งยาต้านไวรัสจีพีโอเวียร์ (VIR T) เป็นสูตรรวมกินแค่เม็ดเดียว ไปขอการรับรองจาก WHO เช่นเดียวกัน คาดว่าอีก 2 ปีจะทราบผล แต่มั่นใจว่าน่าจะสามารถผ่านได้ นอกจากนี้ ในอนาคตยังเตรียมส่งยาต้านวัณโรค และยารักษาโรคมาลาเรียเข้าสู่การรับรองด้วย

...

“การได้รับการรับรองมาตรฐานครั้งนี้ทำให้เปิดโอกาสให้ อภ.สามารถจำหน่ายยาได้มากขึ้น เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมาก ซึ่งยืนยันว่ากำลังการผลิตของเราเพียงพอต่อการใช้ในประเทศและส่งออก ซึ่งในการผลิตปี 2561 สามารถผลิตยาต้านฯได้ 42 ล้านเม็ด หรือ 2.5 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตยาในโรงงานนี้ทั้งหมด 4 พันล้านเม็ด แถมยังมีการเตรียมขยายโรงงานผลิตเฟส 2 อีกด้วย” ภญ.มุกดาวรรณกล่าว