เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยสมัยนี้!... #ปัญหาโลกแตกระดับชาติ ทำให้รู้สึกเหนื่อยใจเสียจริงๆ @RUSDEE โพสต์ไว้ในไทม์ไลน์ส่วนตัวแอปพลิเคชันไลน์

...วัยรุ่นสาดอาก้า อาวุธสงครามกลางเมืองกรุง มีคนเสียชีวิต...เด็กนักเรียน ม.2 ทำร้ายน้อง ป.3...เจ้าหน้าที่รัฐพร้อมพวกล่าหมีขอ...เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าระงับเหตุคนเมายาบ้า ได้รับบาดเจ็บสาหัส เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกคนถูกดำเนินคดี ผกก.ถูกย้าย...พ่อข่มขืนลูกแท้ๆนาน 5 ปี แม่รู้เห็น!

...จับยาเสพติดลอตใหญ่มีแทบทุกวัน และอื่นๆอีกมากมาย

#อยากให้ผู้ใหญ่มองและหันมาพูดคุยหารือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมเหล่านี้จริงๆจังๆ 10 ปีหลังมานี้เราเป็นประเทศกำลังจะพัฒนาแต่ในความเป็นจริง ไม่เลย แทบจะไม่มีอะไรพัฒนาเปลี่ยนแปลง

เพื่อนบ้านอย่างเวียดนามความเจริญเคยตามหลังประเทศไทยอยู่ประมาณ 5-6 ปี แล้วดูตอนนี้สิ...ความเจริญและการพัฒนาเหมือนจะนำหน้าเราด้วยซ้ำ ตัวอย่างของการพัฒนาในทุกๆด้านของประเทศต่างๆมีอยู่ให้เห็นตลอด น่าจะนำมาเป็นแบบอย่าง เช่น ญี่ปุ่น...ความมีระเบียบ สอนและฝึกฝนเด็กตั้งแต่โรงเรียนอนุบาล

...

จีน...ปราบปรามการทุจริต เจ้าหน้าที่รัฐทุจริตโทษหนักถึงขั้นประหาร สหรัฐอเมริกา...อำนาจการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีการป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาเลเซีย...โทษทางอาญา (ประหารก็คือประหาร ไม่มีลดโทษ) และอีกหลายประเทศที่ยังไม่เอ่ยถึง...

ในทางธรรม พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ ธนบุรี กทม. บอกว่า ความสงบของสังคมโลกและผู้คนในโลกนี้ล้วนมาจากที่ตัวบุคคลเป็นสำคัญ

“ผู้นำมีจิตใจที่สงบเยือกเย็นแล้ว ผู้ตามก็จะเกิดความสงบและเยือกเย็นไปด้วย ถ้าหัวแถวตรงแล้วหางแถวก็จะตรงไปด้วย แต่ถ้าหัวแถวเบี้ยวแล้วหางแถวก็จะเบี้ยวไปด้วย ดังนั้นผู้นำในทุกระดับย่อมมีความสำคัญต่อความเป็นไปของทุกชีวิต”

ผู้คนในสังคมเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าผู้นำมีความสงบเยือกเย็นผู้ตามก็จะเยือกเย็นไปด้วย สังคมเราและประเทศเราก็จะสงบและเยือกเย็นไปด้วย

ถ้าผู้นำในครอบครัวมีจิตใจที่สุขุมรอบคอบ มีเมตตาอารี มีความมั่นคงในอารมณ์ มีความรับผิดชอบ สามารถดูแลและให้ความสุขแก่สมาชิกในครอบครัวได้แล้วก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐและเป็นเลิศของครอบครัวนั้นๆ

“ความสงบ” และ “ความสุข” ...จึงเกิดขึ้นที่ตัวบุคคลหรือมนุษย์เราเป็นสำคัญ

พระมหาสมัย
พระมหาสมัย

เราไม่ต้องไปเรียกร้องหรือแสวงหาความสงบที่แห่งหนตำบลหรือจากบุคคลใด ขอให้เริ่มที่ครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน รวมถึงสังคม ขอให้เริ่มที่ตัวเรานี่เอง เราสงบเมื่อใด คนที่อยู่รอบข้างก็จะสงบ เราเยือกเย็นเมื่อใด...คนที่อยู่รอบข้างก็จะเยือกเย็น ไม่ต้องไปชี้โทษคนอื่น ขอให้มาพิจารณาตนเองแล้วค่อยๆปรับปรุงตนเองให้เป็นคนมีเสน่ห์

เตือนตนเองและสอนตนเองให้กลายเป็น “คนดี” สำหรับคนที่ไม่เคยเป็นคนดีก็จะกลับกลายเป็นคนดี ที่เคยดีอยู่แล้วก็จะยิ่งดีขึ้นไปจนทำให้เราสงบ ครอบครัวเราสงบ สังคมเราสงบและโลกเราสงบร่มเย็นไปในที่สุด

ช่วง “เข้าพรรษา”...พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาก็ได้อธิษฐานจำพรรษาในวัดวาอารามแห่งใดแห่งหนึ่งโดยไม่เที่ยวสัญจรไปค้างแรมที่วัดอื่นเป็นเวลาสามเดือน จึงเป็นโอกาสอันดีที่พระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์จะได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยกันได้อย่างเต็มที่

“ชาวพุทธ” จะได้มีโอกาสบำเพ็ญเพียรทั้งการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนากันได้อย่างบริบูรณ์ ท่านใดเคารพ...ศรัทธาวัดวาอารามใดก็จะได้สะสมคุณงามความดีให้กับตนเองตามกำลังที่มีอยู่ ในกรอบเวลาสามเดือนที่ว่านี้ นับเป็นห้วงที่มีคุณค่ามากที่สุด...

...

โดยเฉพาะการรู้จักเข้ามาปรับปรุงตนเองให้เกิดความสงบ เยือกเย็นทั้งกาย วาจา ใจ ทุกชีวิตที่เป็นพุทธศาสนิกชนจะได้เติบโตขึ้นมาเป็น “ศาสนทายาท” ที่ดี...มีคุณภาพต่อไป

ชีวิตของคนเราตั้งแต่ตื่นขึ้นมาล้วนมีภารกิจมากมายตลอดทั้งวันจนกว่าจะมืดค่ำแล้วเข้านอนพักผ่อน บางคนก็สามารถสะสางปัญหา ภาระหน้าที่จนสำเร็จลุล่วงไปได้รายวัน แต่บางคนก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยเหตุผลต่างๆนานา

“ยิ่งร้ายไปกว่านั้น...คือภาระหน้าที่หรือปัญหาอื่นๆที่แทรกซ้อนมาให้แก้ไขก็มีเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นการดำเนินชีวิตที่หาความว่างเปล่าหรือความสงบได้ยากเต็มที”

การที่จะทำบทบาทหน้าที่หรือภารกิจให้ล่วงพ้นไปแต่ละวัน รวมถึงการวางแผนในวันต่อไป...เดือนต่อไปจึงมิใช่สิ่งที่ง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็มิใช่สิ่งที่ทำไม่ได้เสียเลยตราบใดที่มนุษย์เรายังมี “ความเพียร” เป็นที่ตั้ง

รวมถึงการรู้จักใช้ “สติ” และ “ปัญญา” แก้ไขปัญหาโดยไตร่ตรองอย่างรอบคอบ รู้จักนำเอาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน แก้ไขอุปสรรคทั้งปวง

การรู้จักแบ่งปัน การมีจิตอาสานับว่าเป็นพื้นฐานของการเสียสละเป็นพื้นฐานของการกำจัดความตระหนี่ที่มีอยู่ในตนเอง การรู้จักรักษาศีลของตนเองก็เป็นการดูแลชีวิต ความเป็นอยู่ของตนเองได้ดีที่สุด

เพราะ “ศีล” ย่อมนำมาซึ่งความสงบ ความร่มเย็นให้กับชีวิต การเจริญภาวนาบำเพ็ญเพียรทางจิตใจยิ่งเป็นการกระทำที่มีประโยชน์มากที่สุด เพราะคนเราถ้าหากมีจิตใจที่สงบ เยือกเย็น มีจิตเมตตาสูงแล้ว.....

ก็จะทำให้บุคคลนั้นกลายเป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์”

ทางกาย...ไม่ไปรังแก เข่นฆ่า ทำร้ายผู้อื่น ไม่ขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ฉกชิงวิ่งราว ไม่เบียดบังสมบัติส่วนกลางเอามาเป็นสมบัติส่วนตัว ไม่ประพฤติผิดลูกเมียคนอื่น ไม่เสพยาบ้าหรือสารเสพติดเข้าสู่ร่างกาย ไม่เสพของมึนเมา ทางวาจา...ไม่พูดจาใส่ร้ายผู้อื่น ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำเท็จ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดคำหยาบ

...

ทางจิตใจ...ไม่คิดโลภ ไม่คิดโกรธ ไม่คิดหลงจากความเป็นจริงหรือผิดทำนองคลองธรรมและประเพณีนิยมอันดีงาม ไม่ปล่อยให้อำนาจแห่งอวิชชาเข้ามาครอบงำ

พระมหาสมัย ย้ำว่า เหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรตระหนัก ควรพิจารณาให้รอบคอบ เมื่อภาพลบไม่เกิดขึ้นในตนเองแล้ว ก็หันมาขยันประกอบสัมมาชีพ มีความขยันหมั่นเพียรในอาชีพของตนเองด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รู้จักเก็บหอมรอมริบ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนอื่น ส่งความสุขความปรารถนาดีให้กับคนอื่น

“คนเรามักมองเห็นโทษของผู้อื่นเป็นเรื่องใหญ่โตกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ชี้โทษคนอื่นได้ง่ายดายนัก แต่กลับมองไม่เห็นโทษของตนเองหรือมองเห็นโทษของตนเองเพียงเล็กน้อย...

...ในที่สุดก็กลายเป็นคนอิจฉาริษยา

...มีพฤติกรรมอันไม่พึงปรารถนาจนกลายเป็นคนขาดเสน่ห์

ในทางตรงกันข้ามกับคนที่มีความละเอียดพินิจพิจารณาตรวจสอบตนเองอยู่ตลอดเวลา พยายามปรับปรุงข้อบกพร่องทั้งกิริยาการแสดงออกทางกาย ทางวาจา เป็นคนให้เกียรติคนอื่น ในที่สุดก็กลายเป็นคนที่มีมารยาทงาม น่ารัก น่าเคารพ น่านับถือ”

...

อีกไม่กี่วันก็จะ “ออกพรรษา” แล้ว ลองหยุดถามตัวเองตรงๆกันดู ตัวเราเป็นอย่างไร...กาย...วาจา...จิตใจ อิจฉา ริษยา จิตอาสา...ขาด หรือมีเสน่ห์มากน้อยแค่ไหน.