เทศกาลกินเจปี 2561 นี้เป็นอย่างไร? คึกคักหรือไม่?
จิตรา ก่อนันทเกียรติ นักสะสมความรู้เรื่องจีน ได้ตระเวนเดินสายไหว้เจ้ากินเจตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม ในย่านเยาวราช และสอบถามจากศาลเจ้าดังๆทางใต้ เช่น ศาลเจ้ากิ่วอ๋องเอี่ย จังหวัดตรัง, ศาลเจ้าถี่กงตั๋ว ภูเก็ต พอจะสรุปให้เห็นภาพได้ว่า
“ศาลเจ้ากิ่วอ๋องเอี่ย จังหวัดตรัง อาจเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีการลงทะเบียนการกินเจ คิดค่ากินเจหัวละ 500 บาท ปีนี้...มีคนมาลงทะเบียนกินเจยังไม่ถึงสามพันคน ในขณะที่ทุกปีจะมีถึงห้าพันคนเสมอ

เมื่อรวมคนที่มากินเจฟรีที่ศาลเจ้าอีกห้าพันคนก็จะเป็นกว่าหมื่นคนต่อปี บ่งบอกการที่คนยินดีจ่ายเงินค่าอาหารเจให้ศาลเจ้าน้อยลงประมาณเกือบสองพันคน”
มุมมองส่วนตัว จิตราคิดว่าคนกินเจไม่ได้น้อยลง แต่เป็นการมากินฟรีแล้วทำบุญตามแต่ศรัทธามากขึ้น คือเอาปิ่นโตมาตักกับข้าวเจกลับไปกินที่บ้านตามปกติ แต่อาจทำบุญที่ 300 บาท
ยกตัวอย่างที่ศาลเจ้าไต้ฮงกง หรือมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ตั้งอยู่ตรงข้ามโรงพักพลับพลาไชย จะมีการทำอาหารเจเลี้ยงทั้ง 3 มื้อเช่นกัน สำหรับครั้งละ 500 คน อาหารเจมื้อเย็นของวันที่ 8 ตุลาคมหมดตั้งแต่ 16.00 น. มื้อเย็นอาจหมดเร็วเพราะคนตักใส่ถุงกลับบ้านด้วย ดังนั้น...ทุกปีจะมีคนมากินเจฟรีที่ศาลเจ้าเสมอ แล้วไหว้เจ้าต่อ
...
“ดิฉันไปถึงย่านเยาวราชตอนห้าโมงเย็น เมื่อรู้ว่ากับข้าวเจที่ไต้ฮงกงหมด จึงตรงไปวัดเล่งเน่ยยี่ ปรากฏว่า...กับข้าวเจที่มีแม่ค้ามาตั้งขายก็หมดแล้ว หากก็โชคดีที่ได้ทำบุญจุดตะเกียงในศาลเจ้าให้ชื่อเราได้อยู่กับเสียงสวดมนต์ของพระจีนตลอดทั้งสิบวัน”

เพราะเทศกาลกินเจจะเป็นช่วงเดียวเท่านั้นที่ในกรุงเทพฯและภาคกลางจะมีการสวดมนต์ทุกวันยาวนาน 9-10 วัน จากประสบการณ์การเก็บข้อมูลศาลเจ้าเทศกาลกินเจกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ พบว่า...
เทศกาลกินเจคือการไหว้เจ้าแม่ปั๊กเต้าบ้อ พร้อมกับเทพเจ้าอีก 9 องค์ที่เรียกว่า “กิ่วอ๋องไต่ตี้”
ซึ่งศาลเจ้าและโรงเจจะมี 2 แบบคือ แบบที่มีองค์ปฏิมาเจ้าแม่ปั๊กเต้าบ้อกับเทพเจ้า 9 องค์ เช่นที่ศาลเจ้าซินเฮงตั๋ว ถนนไมตรีจิต, ศาลเจ้าของวัดเล่งเน่ยยี่ แต่ถ้าเป็นศาลเจ้าที่ไม่มีองค์ปฏิมาก็จะมีการสร้างเป็นวังเจ้าแม่ปั๊กเต้าบ้อด้วยกระดาษเงินกระดาษทองขนาดใหญ่ เช่นที่ศาลเจ้าโจวซือกง ตลาดน้อย, ศาลเจ้าไต้ฮงกง
ในขณะที่ทางภูเก็ตจะมีความลึกลับซับซ้อนกว่า ที่ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย
จะกั้นม่านไม่เห็นองค์เจ้าแม่ปั๊กเต้าบ้อและกิ่วอ๋องไต้ตี้ คนเห็นจะมีเพียงเจ้าหน้าที่ฝ่ายชาย 2 ท่านที่จะรับธูปของชาวบ้านเข้าไปปักให้

“แฟนคลับที่ภูเก็ตบอกว่า โอ้โฮ...หนังสือของพี่จิตราทำให้ได้เห็นองค์เจ้าแม่และเทพเจ้า 9 องค์ เพราะไหว้มาตั้งแต่เด็กก็ไม่เคยเห็นเลย มีแต่ม่านกั้น “จิตรา” ว่า
“แต่ทุกศาลเจ้าและโรงเจจะมีกฎเหล็กเหมือนกันหมดว่า...ถ้าไม่ใส่ชุดขาวก็ไม่ให้เข้าศาลเจ้าและต้องเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายชายเท่านั้นที่เป็นผู้ปักธูปให้ ห้ามผู้หญิงเหยียบมณฑลพิธี”
นอกจากการต้องมีจุดตะเกียง 9 ดวงบูชาเทพเจ้า 9 องค์ อีกอย่าง...ที่ทุกศาลเจ้าต้องมีเหมือนกันคือถังใส่ของไหว้ต่างๆถวายเจ้าแม่ บางแห่งเป็นถังสีเหลือง บางแห่งเป็นถังสีแดง ในถังจะมีตะเกียงไฟ, กรรไกร, ตาชั่งทองเหลือง, ไม้บรรทัด, ลูกคิด, ข้าวสาร, กระบี่, ฉัตร, พัด, ธงพระ, กระจก
โดยแต่ละศาลเจ้าอาจมีครบตามนี้ หรือมากน้อยกว่านี้ จากประสบการณ์ตรงในการไปเก็บข้อมูลไหว้เทศกาลกินเจที่ฮ่องกง ก็ได้เจอศาลเจ้าที่มีไหว้สวดมนต์ตลอดเทศกาลกินเจ...ศาลเจ้าจัดของทำพิธีให้คนมาไหว้ เป็นถังเหล็กใบย่อมๆ ข้างในใส่ข้าวสาร, ไม้บรรทัด, กรรไกร, ตาชั่งทองเหลือง และตะเกียงไฟดอกบัวแบบใส่ถ่าน
...
“เทศกาลกินเจเดือน 9”...ของจีน จึงน่าจะคึกคักกินกันทั้งประเทศก็เฉพาะที่เมืองไทย สำหรับที่ประเทศอื่นก็มีคนไปพบศาลเจ้าที่มีการกินเทศกาลกินเจ ที่สิงคโปร์และปีนัง กินเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่ได้จัดใหญ่ ไม่รู้ว่ามีทำพิธีเสริมดวงและปัดเป่าเคราะห์แบบเมืองไทยไหม
ด้วยเพราะทางใต้จะค่อนข้างชัดเจนกับการปัดเป่าเคราะห์ สะเดาะเคราะห์ ส่วนของทางกรุงเทพฯและภาคกลางเป็นแนวบอกให้เจ้ารู้ว่า ได้กินเจตลอด 9-10 วัน เช่นที่ศาลเจ้าของวัดเล่งเน่ยยี่ พบกระดาษทองของคนที่ไหว้เป็นจะเป็นการไหว้ถึงเทพม้า ทั้งเพื่อให้ส่งสารถึงเจ้าได้เร็วไวว่า เรากินเจ
หากมีเคราะห์ภัยอันใด เทพม้าจะรีบบอกเจ้าให้ช่วยเราได้ทันเวลา

ถัดมา...ที่ศาลเจ้าซินเฮงตั๋ว ถนนไมตรีจิต จะมีให้ทำบุญ “พะเก่ง” คือใส่ชื่อทั้งครอบครัว 400 บาท แล้วทางศาลเจ้าจะไหว้ให้ด้วยนกกงเต๊กให้รีบคาบชื่อทั้งครอบครัวไปให้เจ้าคุ้มครอง ปีนี้มีถังน้ำใส่กล้วยและส้มให้กลับไปไหว้และใช้ที่บ้านให้เฮงๆ
คนขายของไหว้ที่รู้งานจะต้องมี “กุ้ยนั้งฮู้” คือยันต์เทพผู้คุ้มครอง หากเป็นช่วงตรุษจีน ยันต์นี้จะเป็นสีแดงช่วงกินเจจะเป็นสีเหลือง ใครที่กินเจแล้วไปไหว้ที่ศาลเจ้า จิตรา ขอแนะนำให้ซื้อกระดาษกุ้ยนั้งฮู้
...
สีเหลืองไหว้ด้วย

“บางศาลเจ้ามีทำเป็นข้าวสารใส่ถุงแดง ถ้าเห็นก็ขอแนะนำให้ทำบุญเอากลับบ้านเช่นกัน…มีโรงเจหนึ่งมีกาน้ำมันใบใหญ่มากให้เติมเสริมดวง”
ถึงตรงนี้พอจะเห็นแล้วว่า...เทศกาลกินเจทำพิธีอะไรกันบ้างที่ศาลเจ้า ที่สำคัญ...พิธีกรรมต่างๆของเทศกาลกินเจ มีเรื่องการต้องละเอียดถี่ถ้วนที่เล่าต่อกันมาอีก เช่นทางใต้ของไทยที่เป็นสายร่างทรง ต้องมีการตั้งมณฑลพิธีด้วยการใช้ธง 5 สี คือ...สีดำ สีแดง สีเขียว สีขาว และสีเหลือง

...
ปักให้คุ้มครอง 5 ทิศคือ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศตรงกลาง คือคุ้มครองทั้งฟ้าและดิน แต่ละธงหมายถึงแต่ละกองทัพ มีแม่ทัพเป็นเทพเจ้าที่ล้วนเก่งกล้า เช่น ธงสีเหลืองเป็นธงประจำทัพนาจา มีพลทหาร 33,000 คน...มักเป็นทัพหน้าที่บุกไปก่อนเสมอ
นี่อาจเป็นอีกเหตุผลที่ศาลเจ้าทางใต้ต้องตั้งนาจา มีการทำพิธีที่เรียกว่า ปล่อย “ทหารผี” และต้องทำพิธีเลี้ยงอาหารทหารผี บางศาลเจ้าเลี้ยงทุกวันก็มี และเมื่อเสร็จพิธีต้องเลี้ยงทหารผีให้อิ่ม จากนั้นต้องทำพิธีเรียกทหารผีกลับเข้าธง แล้วทำพิธีเก็บธง ม้วนพับเก็บไว้ที่ศาลเจ้าอย่างเรียบร้อย...
“ความรู้เรื่องธง 5 สีนี้...ต้องขอกราบขอบพระคุณผู้ใหญ่ที่ให้ความรู้ คุณดิโรจน์ เลิศเอกกุล แห่งศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย ภูเก็ต ได้คุยเมื่อปี 2553...2554 ปัจจุบันท่านเสียไปแล้วด้วยวัยชราค่ะ”

ซึ่งคำว่า “เสร็จพิธี” หมายถึงจบเทศกาลคือเชิญเทพเจ้ากลับขึ้นฟ้า ดับตะเกียงทั้ง 9 เอาเสาลง นำสิ่งที่คนไหว้ให้ปัดเป่าเคราะห์ให้ เช่น ชุดต่างตัว ต้องนำไปเผาที่ไกลๆ เช่น ริมทะเลไกลๆ
ที่มาและรายละเอียดเทศกาลกินเจมีหลายตำรา เมื่อได้เก็บข้อมูลไปเรื่อยๆก็เจอว่าหลายตำรามีจริง เช่น กินเจแล้วกินหอยนางรมที่เรียกว่า “อ๊อเจ” ก็ได้ไปเจอที่ฮ่องกงและได้ไปทานมาจริงๆเมื่อเดือนธันวาคมปี 2560 หมู่บ้านในชนบทฮ่องกงจัดฉลองศาลเจ้าแม่ทับทิม ต้องจัดงานและมีงิ้วทุก 10 ปี คนทั้งหมู่บ้านต้องมากินโต๊ะจีนเจหอยนางรม 100 กว่าโต๊ะ ดังนั้น...ความรู้เรื่องจีนอยู่ที่การสะสมไปดูถูกที่ ไปถามถูกคน ไม่ใช่แค่อ่านในกูเกิล
จิตรา ก่อนันทเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายว่า เทศกาลกินเจเดือน 9 ของจีนไทย มีคุณค่าเกินกว่าที่ใครจะดูแคลนว่ากินไปทำไม เอาเป็นว่า ...“กินเจแล้วดีก็แล้วกัน”.