สพศท.ชี้เป็นลูกโซ่เรื้อรังมายาวนาน แฉ 3 สาเหตุใหญ่ตัวการก่อปัญหา
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะคณะกรรมการปฏิรูประบบประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาผู้ป่วยล้นทะลัก ไม่มีแพทย์เชี่ยวชาญเพียงพอ ไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาเรื้อรังมานับ 10 ปี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไข โดยให้ประชาชนมีความรู้เรื่องสุขภาพ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกอบกับตัวอื่นๆ เช่น เรื่องสารพิษต้องแก้ไข เป็นต้น ทั้งนี้เรายังไม่พูดถึงตัวเลขงบประมาณ แต่ถ้าคนทำงานไม่พอมันกระทบกับการดูแลผู้ป่วยแน่นอน เพราะแพทย์มีเวลาวินิจฉัยโรคน้อย คนไข้ก็ขาดโอกาส แต่เข้าใจว่าเราพยายามแก้ไขอยู่ เราทำดีแล้วแต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องคุยกัน ซึ่งในวันที่ 9 ต.ค.ทางคณะกรรมการปฏิรูประบบประเทศด้านสาธารณสุข จะคุยกันเรื่องนี้เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
ด้าน นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) เปิดเผยว่า ปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังและส่งผลให้เกิดปัญหาลุกลามเป็นลูกโซ่ในระบบสาธารณสุข ถึงแม้สถานการณ์จะดีขึ้นมากในช่วงหลังเพราะ สธ.ได้พยายามออกมาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือ แต่มองว่ายังเป็นการพยุงตัวเองให้รอดเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หากต้นเหตุของปัญหาจริงๆ ไม่ได้มีการแก้ไข โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลต้นเหตุของปัญหาหลักๆ คือ จำนวนคนไข้ที่มา รพ.มากขึ้น มี 3 สาเหตุคือ
1.ขาดความรอบรู้เรื่องสุขภาพในการดูแล ป้องกันตนเอง
2.ความละเลยที่จะดูแลตัวเอง เช่น รู้ว่าเหล้า บุหรี่ไม่ดีก็ยังบริโภค
และ 3.สธ.พยายามยกมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วย มีการทำศูนย์ความเป็นเลิศในด้านต่างๆ เป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้ประชาชนได้รับการดูแลรักษาที่ดี แต่ต้องใช้เงินจำนวนมาก
...
ขณะที่ความคาดหวังของผู้ป่วยก็ยิ่งมีมากขึ้น ดังนั้นจึงมีปัญหาเรื่องการเงิน การคลัง ซึ่งปัจจุบันแม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนมาช่วยเหลือกันภายในจังหวัด แต่ก็ยังเป็นไปตามรายหัวประชากรในแต่ละพื้นที่ ซึ่งบางโรงพยาบาลที่มีประชากรน้อย ได้เงินน้อย เมื่อหักเงินเดือนแพทย์ออกแล้วจึงเหลืองบประมาณสำหรับดูแลผู้ป่วยไม่มาก ดังนั้น หากสาเหตุหลัก 3 ข้อนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหานี้ก็จะยังวนเวียนกลับมาแบบนี้อีก.