“หนี้นอกระบบ”...เป็นปัญหาที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา...“ความยากจน”

รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหานี้โดยการผลักให้ประชาชนเป็น “หนี้ในระบบ” แทน เพื่อลดภาระในการจ่ายอัตรา “ดอกเบี้ย” ที่สูง และเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มูลค่าหนี้สินของครัวเรือนกลับไม่ลดลง แถมยังมีแนวโน้มสูงขึ้น น่าสนใจว่าปัญหาที่ว่านี้สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดน่าน ที่ทำการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

“เกษตรกรที่นี่ตัดสินใจปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามการสนับสนุนของกลุ่มนายทุน เนื่องจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถือเป็นผลผลิตที่มีศักยภาพทางธุรกิจสูง...เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกรว่าจะมีตลาดรองรับสินค้า และผลผลิตที่ออกมาจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างแน่นอน”

การตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการปลูก “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ของ ชาวบ้านนี่เอง คือจุดเริ่มต้นของ “หนี้สิน” ที่ต้องกู้ยืมมาเพื่อลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ และอุปกรณ์การเกษตร

ในความเป็นจริงถึงแม้ว่าจะมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน แต่ราคาผลผลิตนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน และชาวบ้านเองก็ไม่มีอำนาจมากพอ ที่จะสามารถกำหนดหรือต่อรองราคาผลผลิตกับกลุ่มนายทุนได้

ผล...ทำให้ “รายได้” ที่มีหลังหักค่าใช้จ่ายหรือหนี้ที่กู้ยืมมาลงทุนตอนแรกไม่เพียงพอค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงไม่มีทุนในการเพาะปลูกครั้งถัดไป

...

เมื่อเป็นเช่นนั้น... “เกษตรกร” จึงต้องทำการกู้เงินเพิ่มเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน และลงทุนในรอบการผลิตถัดไปเรื่อยๆอย่างไม่มีวันจบสิ้น

ข้อมูลจาก ดร.นณริฏ พิศลยบุตร, นายพนธกร วรภมร, นางสาวสรัลชนา ธิติสวรรค์, นางสาวพรปวีณ์ ลีรพงษ์กุล ทีมวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สะท้อนอีกว่า...

ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้เกษตรกรมีพฤติกรรมการ “หมุนจ่ายหนี้” โดยอาศัยนโยบายสนับสนุนเกษตรกรของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นกลไกสำคัญ

“พวกเขากู้ยืมสินเชื่อจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมาเพื่อใช้ลงทุน แต่เมื่อถึงเวลานัดจ่ายชำระหนี้กลับไม่มีเงินเพียงพอ ถ้าเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้น และ...ถูกปรับลดระดับชั้นลูกค้า”

ส่งผลให้ต้องหากู้แหล่งเงินทุนอื่นเพื่อนำมาชำระหนี้ให้ทันเวลา ไม่ว่าจะเป็นการกู้จากสหกรณ์...กองทุนหมู่บ้าน หรือ...การกู้นอกระบบ

และ...เมื่อถึงคราวต้องจ่ายชำระหนี้ให้แก่แหล่งเงินทุนนอกระบบ พวกเขาก็ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้อีกเช่นเคย...จึงทำให้ต้องเข้าสู่วงจรการกู้จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอีกครั้ง

ในขณะเดียวกัน เมื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐพิจารณาประวัติการชำระหนี้ของเกษตรกรแล้วพบว่า เกษตรกรมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี ทางธนาคารก็จะอนุมัติเงินกู้รอบใหม่เพิ่มขึ้น

ทว่า..ที่สุดแล้ว “เงิน” ดังกล่าวที่ได้มาก็จะถูกใช้คืน “หนี้นอกระบบ” หมุนวนกลับไปทำให้จำนวนหนี้สินที่เกษตรกรมีอยู่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ

ชาวบ้านครัวเรือนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เริ่มกู้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน เฉพาะกิจของรัฐครั้งแรกเมื่อปี 2541 จำนวนเงิน 30,000 บาท ปัจจุบันเขามีหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐสูงถึงประมาณ 600,000 บาท

“ไม่แปลกที่เรามักจะคิดว่าการขาดวินัยและความรู้ทางการเงิน ของเกษตรกรเป็นปัญหาหลักที่ก่อให้เกิดวัฏจักรหนี้ขึ้น” ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกต

“แต่หากพิจารณาไปถึงต้นเหตุที่ทำให้เกิดวงจรหนี้ลักษณะนี้ขึ้นจะพบว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมถือเป็นปัจจัยหลักที่รักษาความเหลื่อมล้ำให้คงไว้ พวกเขามีทางเลือกที่จะสร้างรายได้ไม่มากนัก และมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ไม่น้อย”

“ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเอาที่ไปทำอะไร”... คำพูดนี้ของเกษตรกรไม่ได้สะท้อนว่าพวกเขาขาดความรู้ทางการเกษตรหรือการประกอบอาชีพ แต่ได้แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาด

อีกทั้งยังสะท้อนไปถึงความสามารถในการสร้างรายได้ที่มากพอที่จะคืนทุนและใช้เงินกู้ เมื่อบวกกับชนิดของพืชที่เพาะปลูกในหมู่บ้าน ประหนึ่งพวกเขาถูกกำหนดโดย “กลุ่มทุน” ที่เข้ามาสนับสนุนเพียงเท่านั้น

กลุ่มทุนเสมือนเป็นกุญแจล็อกปิดตายมุมมอง ความคิด ให้เห็นภาพเดียวว่า...การปลูกพืชชนิดอื่นไม่สามารถทำรายได้ให้แก่พวกเขาได้มากเท่ากับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ในขณะที่ “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” เองก็ไม่สามารถทำรายได้ให้แก่เกษตรกรมากพอเช่นกัน

นอกจากนี้เกษตรกรในพื้นที่ยังเล่าอีกว่า “ภาครัฐ” เข้าไปดูแลช่วยเหลือเรื่องผลผลิตทางการเกษตรน้อยมาก ผู้ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับเกษตรกรส่วนใหญ่คือกลุ่มนายทุนที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์

ทั้งหมดเหล่านี้คือที่มาที่ไปต้นตอปัญหาที่เป็น “กับดัก” ที่ก่อให้เกิดวัฏจักรของการเป็น “หนี้”

...

แน่นอนว่าหนี้สินที่พอกพูนเพิ่มขึ้นทุกขณะเวลาจึงมิได้อยู่ที่ตัวเกษตรกรเพียงอย่างเดียว หากแต่หมายรวมไปถึงนโยบายการปล่อยสินเชื่อพร้อมดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรในสภาวการณ์ที่พวกเขา ไม่มีศักยภาพในการทำรายได้เพื่อชำระหนี้เช่นกัน

ชี้ชัดว่าการที่ “รายรับ” จากผลผลิตทางการเกษตรไม่สูงพอ

และความต้องการพึ่งพาการสนับสนุนจากภายนอก คือเงื่อนไขให้ต้อง “กู้ยืม” เงินจากช่องทางต่างๆ เพื่อนำมาใช้ดำรงชีพและประกอบอาชีพ...

เพราะเหตุนี้นโยบายส่งเสริมการลงทุนในการประกอบอาชีพ โดยการเอื้อให้เกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อและนโยบายช่วยเหลือการชำระหนี้ในโครงการต่างๆ จึงไม่สามารถปลดหนี้เกษตรกรได้อย่างแท้จริง

หนำซ้ำ...ยังเป็นการเพิ่มภาระการ “ชำระหนี้” ในทางอ้อมอีกด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว หากภาครัฐต้องการที่จะ “ช่วยเหลือ” และ “แก้ไขปัญหา” ภาระด้านหนี้สินของเกษตรกรให้ตรงจุด...ทีมวิจัย TDRI เสนอว่า “ภาครัฐ”...จำเป็นจะต้องส่งเสริมและขยายศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้มากพอที่จะหลุดพ้นจากภาระหนี้สิน

...

ที่สำคัญ...ต้องพิจารณาถึงช่องว่างของนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบที่ไม่ได้คำนึงถึงเฉพาะความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ตามกำหนด แต่ต้องเข้าใจถึงข้อจำกัดในการบริหารจัดการหนี้ของเกษตรกร

ตลอดจนการเสริมองค์ความรู้ทางด้านการเงิน เพื่อที่จะทำให้การปล่อยสินเชื่อ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างแท้จริง

“สินเชื่อ” กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร จะต้องเป็นตัวช่วย เป็นกุญแจสำคัญในการปลดเปลื้องหนี้สินไม่ให้เพิ่มพูน ไม่ใช่แค่เป็นตัวถ่วงเวลาการชำระหนี้สิน...สร้างปัญหา “กับดักหนี้”

ประเทศไทยเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ “เกษตรกรไทย” ต้องลืมตาอ้าปากได้ ไม่ใช่ว่ายิ่งทำยิ่งจน...ยิ่งทำมากเท่าไหร่ “นายทุน” ก็ยิ่งรวย.