งานสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดสู่คู่ค้ายางพาราไทย จัดโดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ จ.กระบี่และตรัง เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่มีการเชิญเอกอัครราชทูต ผู้แทนสถานทูต ผู้ประกอบการและผู้นำเข้ายางพาราจาก 20 ประเทศรวม 200 คน ให้มาสัมผัสอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราทั้งระบบของไทยถึงในสวนยาง ต่างจากในอดีตที่ทำแค่เพียงเชิญมาร่วมสัมมนาแค่ในห้องประชุมของโรงแรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะที่เดินทางมาร่วมงานในครั้งนี้ส่วนใหญ่เคยเห็นต้นยางมาบ้าง แต่ไม่เคยมาศึกษาดูงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยางพาราในบ้านเรา เลยทำให้บริษัทและโรงงานผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยางพาราไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยว่า ยางพาราที่สั่งซื้อไปเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานนั้น เป็นผลผลิตที่มาจากประเทศไทย ทั้งที่เราเป็นผู้ส่งออกยางพารามากเป็นอันดับหนึ่งของโลก

นายเรซา กาเซเมียน ตัวแทนผู้ประกอบการ อิหร่าน เผยว่า หลังได้รับการเชิญจาก กยท. ให้มาร่วมงาน ได้โทรศัพท์ไปปรึกษาเพื่อนในอุตสาหกรรมยางที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดาว่า จะมาดูการปลูกยางและอุตสาหกรรมแปรรูปยางที่เมืองไทยดีไหม เพื่อนเหล่านั้นยังงงๆ เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่า ไทยมีการปลูกยางและแปรรูปยางส่งออก เพราะที่ผ่านมาได้ซื้อยางจากตัวแทนในมาเลเซีย และสิงคโปร์

...

ด้าน นายสเตเฟน รามิเรซ ดาบิลา ตัวแทนบริษัทนำเข้ายางพาราจากเม็กซิโก บอกว่า ที่เม็กซิโกมีการปลูกยางพาราเหมือนกับไทยเช่นกัน แต่รัฐบาลของเม็กซิโก ไม่มีการสนับสนุนให้เกษตรกรแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันเหมือนเมืองไทย เกษตรกรทำเพียงแค่กรีดยางทำเป็นยางก้อนและขี้ยางส่งขายให้กับประเทศที่ผลิตยางล้อ ขอชื่นชมประเทศไทยผลิตยางเก่ง ปลูกได้ แปรรูปได้ แต่ไม่ขายเองทำไมต้องขายผ่านประเทศอื่นที่เป็นพ่อค้าคนกลาง

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า หลังจากคณะผู้มาร่วมงานยางครั้งนี้ ได้รับรู้ข้อมูลด้านการผลิตยางพาราของไทย นายคิริว บาร์สกี้ เอกอัครราชทูตรัสเซีย นายเรซา กาเซเมียน ตัวแทนผู้ ประกอบการอิหร่าน และ นายสเตเฟน รามิเรซ ดาบิลา ตัวแทนผู้ค้าจากเม็กซิโก ให้คำมั่นยินดีที่จะซื้อยางโดยตรงจากกลุ่มสหกรณ์ยางพาราไทย แต่ขอให้ กยท.เป็นผู้รับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยางเท่านั้นเอง.